news-details
Business

AMATA มั่นใจ “ทรัมป์”ชนะเลือกตั้งดันไทยรับอานิสงส์นักลงทุนจีนแห่ย้ายฐานการผลิต ล่าสุด “อมตะ ยู”เซ็น MOU กับ EASTW ลุยศึกษาแผนจัดการน้ำพื้นที่ EEC

อมตะฯเผย “ทรัมป์”ชนะเลือกตั้ง ส่งผลบวกไทยรับอานิสงส์กีดกันการค้าจีน นักลงทุนย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพิ่มอีกต่อเนื่อง มันใจยอดขายที่ดินปี 67 เป็นไปตามเป้า 2,500 ไร่ วางงบลงทุนสำหรับซื้อที่ดินเพิ่มไว้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ล่าสุด อมตะ ยู ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับอีสท์ วอเตอร์ เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC หวังพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมความมั่นคง-สร้างความยั่งยืนในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อมตะ คอร์ ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า จากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นผลบวกต่อ AMATA ด้วย เนื่องจากจากมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน อาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถานการณ์การย้ายฐานการผลิตจากจีนมาประเทศไทยยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง  

ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2567 ซึ่งบริษัทจะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติงบไตรมาส 3/2567 ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเชื่อว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2567 จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของรายได้และยอดขาย โดยหลักๆ จะมาจากการขายที่ดิน ทั้งนี้ ในปีนี้บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายที่ดินไว้ที่ 2,500 ไร่ เป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ทำได้ 1,854 ไร่

“เราเห็นสัญญาณการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง จึงได้ปรับเป้าหมายยอดขายขึ้นเป็น 2,500 ไร่ ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา (จากเดิมที่วางเป้าหมาย 2,000 ไร่) โดยหลักๆ ยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าจีน และเชื่อว่าจะยังคงเห็นสัญญานแบบนี้ต่อเนื่องไปถึงปี 2568 โดยในปี 2567 ได้วางงบลงทุนสำหรับซื้อที่ดินเพิ่มไว้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท สำหรับเตรียมความพร้อมในการรองรับความต้องการอย่างต่อเนื่อง” นางสาวเด่นดาว กล่าว

โดยในช่วงไตรมาส 3/2567 ที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายที่ดินจำนวน 957 ไร่ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมียอดขายที่ดินแล้วประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งล่าสุด (เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา) บริษัทได้เซ็นสัญญาขายที่ดินให้กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม Data Center จำนวนกว่า 70 ไร่ มูลค่ารวมเกือบ 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ทิศทางของการขายที่ดินในช่วงไตรมาส 4/2567 ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ มั่นใจว่ายอดขายที่ดินในไตรมาสนี้ จะสามารถทำได้ที่ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งยังคงได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังมีการเข้ามาลงทุน Data Center และอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ส่วนยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วงไตรมาส 3/2567 บริษัททำได้ 452 ไร่ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมียอดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 766 ไร่ ขณะที่ในไตรมาส 4/2567 จะมีการทยอยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ ยู จำกัด (อมตะ ยู) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ AMATA กล่าวว่า อมตะ ยู ดำเนินธุรกิจจัดหาและให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานที่มั่นคง ยั่งยืน ครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะทั้งในและต่างประเทศ อมตะ ยู มุ่งมั่นให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานที่มีคุณภาพสูงและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าและส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล

ล่าสุดบริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมุ่งหวังพัฒนาศักยภาพเพื่อเสริมความมั่นคงและสร้างความยั่งยืนในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรน้ำดิบ เพื่อรองรับความต้องการน้ำในระยะยาวของภาคอุตสาหกรรมภายใต้ขอบเขตความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงระยะเวลา 1 ปี โดยจะร่วมกันศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำดิบของอมตะ ยู และการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อน้ำของ EASTW เพื่อสร้างระบบส่งน้ำที่มีเสถียรภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ รองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง” นายชวลิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม อมตะ ยู มีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพในด้านการบริหารจัดการน้ำดิบในช่วงวิกฤตน้ำแล้ง รวมถึงในสถานการณ์ปกติ ภายในนิคมเองมีแหล่งน้ำดิบเหลือใช้ในพื้นที่ของนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ผ่านโครงข่ายท่อของ EASTW เพื่อสนับสนุนการผลิตในโรงงานตลอดทั้งปี และในช่วงการเติบโตของพื้นที่ EEC จะมีการจัดส่งน้ำดิบเพิ่มเติมในปริมาณที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐในการส่งน้ำจากในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก

สำหรับความร่วมมือกับ EASTW ในครั้งนี้ บริษัทจะต้องมีการลงทุนท่อส่งน้ำ เพื่อเชื่อมต่อกับท่อส่งน้ำของ EASTW เบื้องต้นคากว่าจะใช้งบลงทุนประพมาณ 20 ล้านบาท โดยจะเริ่มทดลองขายน้ำดิบเฟสแรกที่ 100,000 คิว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน (นับจากวันที่ลงนาม)  และในอนาคตจะมีการขยายท่อส่งน้ำเพิ่ม เพื่อจะเพิ่มจะเพิ่มปริมาณการขายนำเป็น 5 ล้านคิว

นายชวลิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอมตะ ยู มีปริมาณการขายน้ำให้กับนิคมอุตสาหกรรมอมตะรวมทั้งสิ้น 58 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 110 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ตามการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมอมตะใหม่อีก 3 แห่ง ซึ่งมั่นใจว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของผู้ประกอบการภายในนิคม จากแหล่งเก็บน้ำของอมตะ ยู เอง, บ่อกักเก็บน้ำเอกชนที่เป็นพันธมิตรกับอมตะ ยู และผู้ประกอบการโครงข่ายน้ำอย่าง EASTW  

 

ด้าน ดร.เพ็ชร ชินบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW กล่าวว่า การร่วมศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC จะเน้นการศึกษาศักยภาพแหล่งน้ำดิบระหว่าง EASTW และอมตะ ยู โดยจะนำน้ำดิบดังกล่าวมาบริหารจัดการส่งโดยโครงข่ายท่อของ EASTW เพื่อเสริมความมั่นคงเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำและสร้างความเชื่อมั่นตลอดจนตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำระยะยาวในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ  โดย EASTW พร้อมจะดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนในทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เป็นหลัก โดยพัฒนาท่อส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่

1.โครงการท่อส่งน้ำดิบมาบตาพุด-สัตหีบ

2.โครงการท่อส่งน้ำดิบ หนองปลาไหล -หนองค้อ-แหลมฉบัง เพื่อที่จะตอบสนองการรับส่งน้ำในเขตนิคมอุตสาหกรรม

3.โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งสายคลองหลวง-ชลบุรี  เพื่อที่จะสามารถรับส่งน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี 

“การพัฒนาท่อส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เพื่อให้โครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) ของเรามีความสมบูรณ์มั่นคงและแข็งแกร่งในภาคตะวันออก รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น สร้างการเติบโต และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำให้แก่พื้นที่ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ความร่วมมือของทั้ง 2 บริษัทในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำครบวงจรให้เต็มประสิทธิภาพในพื้นที่ EEC พร้อมตอบสนองนโยบายของภาครัฐ และแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” ดร.เพ็ชร กล่าว

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร ทั้งน้ำดิบ น้ำอุตสาหกรรม น้ำเสีย และการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนารูปแบบธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งกักเก็บน้ำและโครงข่ายท่อน้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เป็นไปอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพสูงสุด และพัฒนาการบริหารทรัพยากรน้ำภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความมั่นคงและต่อเนื่อง

 

 

 

 

You can share this post!