เงินบาท "อ่อนค่าลงหนัก" เปิดเช้านี้ 34.37 บาท/ดอลลาร์ หลัง Trump ชนะเลือกตั้งปธน.สหรัฐ กรุงไทย คาดวันนี้ 34.20-34.55 บาท/ดอลลาร์ แนะระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และ FOMC ของเฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.37 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.16 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 34.15-34.40 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งได้แรงหนุนจากการเพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades หลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการสะท้อนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้คว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนพรรครีพับลิกันก็มีแนวโน้มครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้ (ล่าสุดเป็นที่แน่ชัดว่า พรรครีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ส่วนสภาผู้แทนฯ นั้นก็อาจต้องรอลุ้นต่อ แต่พรรครีพับลิกันได้ที่นั่งมาแล้ว 205 ที่นั่งจาก 218 ที่นั่ง เพื่อครองเสียงข้างมาก)
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซน 2,650-2,660 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่คงมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำต่างก็ทยอยเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติม โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันค่าเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องจนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมารอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด ที่จะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย และผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไร Trump Trades ออกมาบ้าง
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งเราประเมินว่า BOE มีโอกาสลดดอกเบี้ย -25bps สู่ระดับ 4.75% ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างคาดหวังไว้แล้ว ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า BOE จะส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในอนาคตอย่างไร โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจมีโอกาสเพียง 32% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อในการประชุมเดือนธันวาคม
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการส่งออกและนำเข้า (Exports and Imports) ของจีน ในเดือนตุลาคม เพื่อประเมินแนวโน้มความต้องการบริโภคภายในประเทศของจีน ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดการนำเข้า โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างประเมินว่า ยอดการนำเข้าของจีนอาจหดตัว -1.5%y/y สะท้อนความต้องการบริโภคในประเทศที่อาจยังซบเซาอยู่ ขณะที่ยอดการส่งออกอาจขยายตัวราว +5.0%y/y
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมรอลุ้น ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ในเช้าวันศุกร์นี้ โดยเราประเมินว่า ที่ประชุม FOMC อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพียง -25bps (ลดลงจากการประชุมรอบก่อนที่เร่งลดดอกเบี้ย -50bps) สู่ระดับ 4.50%-4.75% อย่างไรก็ดี เราจะรอจับตาการส่งสัญญาณของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงิน หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอนาคต ซึ่งเราคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ทว่าล่าสุด ผู้เล่นในตลาดกลับมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยในอนาคตของ ECB
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หลังผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็สอดคล้องกับมุมมองของเราบ้าง (Trump w/Divided Congress แต่โอกาสเกิดกรณี Republican Trifecta น่าจะสูงกว่า จากผลการเลือกตั้งสภาผู้แทนล่าสุด) โดยเราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม รวมถึง หากราคาทองคำยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องได้ ซึ่งอาจต้องเห็นการปรับตัวขึ้นต่อของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งเรามองว่า อาจต้องรอลุ้นผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด นอกจากนี้ เราประเมินว่า บรรดาผู้เล่นในตลาด ไม่ว่าจะผู้ส่งออก หรือ ผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) ก็อาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้าน ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ ขายทำกำไรสถานะดังกล่าวได้ ทำให้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็มีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไปได้
เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลัก เริ่มจาก BOE ซึ่งจะรับรู้ในช่วง 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งมักจะเป็นช่วงที่สภาพคล่องในตลาดค่าเงินเบาบางลง โดยหาก BOE ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อ หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ ทว่าในช่วง 02.00 น. ตลาดการเงินก็อาจกลับมาผันผวนอีกครั้ง ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด เพราะหากเฟดลดดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณย้ำจุดยืนเดินหน้าลดดอกเบี้ยตาม Dot Plot ซึ่งต้องจับตาว่า ประธานเฟดจะมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินของเฟด อย่างไร หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยท่าทีดังกล่าวของเฟด ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ ตามการปรับเพิ่มแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดจากบรรดาผู้เล่นในตลาด ที่ปัจจุบัน เชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot พอสมควร
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.55 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และ FOMC ของเฟด)