news-details
Business

บาท"แข็งค่าขึ้นมาก"เปิดเช้านี้ 34.02 บาท/ดอลลาร์

เงินบาท"แข็งค่าขึ้นมาก"เปิดเช้านี้ที่ 34.02 บาท/ดอลลาร์ กรุงไทย คาดวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.20 บาท/ดอลลาร์ รอติดตามถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ECB และBOE

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.92-34.31 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลัง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับลดดอกเบี้ยลง -25bps สู่ระดับ 4.75% ตามที่เราประเมินไว้ ทว่า BOE กลับไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า BOE มีโอกาสน้อยราว 22% ที่จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในการประชุมเดือนธันวาคม นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการทยอยขายทำกำไรธีม Trump Trades ซึ่งก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเช่นกัน และการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนหนุนให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) รีบาวด์ขึ้นต่อเนื่อง สู่โซน 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นราว +50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ของราคาทองคำ โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็ถูกชะลอลงแถวโซนแนวรับ 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามการรีบาวด์ขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ หลัง ที่ประชุม FOMC ของเฟด ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 4.50%-4.75% ตามที่เราคาด ทว่าเฟด รวมถึงประธานเฟดก็ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง อีกทั้งเฟดก็ไม่ได้แสดงความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% อย่างยั่งยืน พร้อมกับแสดงความกังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานเหมือนในการประชุมรอบก่อน ซึ่งอาจเป็นเพราะผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทำให้เฟดและประธานเฟดมีท่าทีดังกล่าวได้ ส่งผลให้บรรดาผู้เล่นในตลาดคงเชื่อว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่เฟดได้ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน (ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2025 น้อยกว่าที่เฟดมองว่าจะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง)

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 71 จุด ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้น และระยะยาว ที่อาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้

นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะกลับมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น อาจทำให้โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบ้าง แต่เราจะยังคงมั่นใจต่อมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยอ่อนค่าลงได้ ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาแข็งค่าขึ้นจนทะลุโซนแนวรับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน (ตามกลยุทธ์ Trend-Following) ทั้งนี้ ในระยะสั้น เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways ในกรอบ 33.90-34.25 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย ทว่า การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าวก็อาจถูกชะลอลงบ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ซึ่งอาจจะขึ้นกับทิศทางของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเช่นกัน

อนึ่ง ในช่วงหลังจากตลาดรับรู้ทั้งผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และผลการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด เรามองว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยเช่นกัน เพราะความวุ่นวายของสถานการณ์การเมืองไทย อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ในกรณีที่บรรดานักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท เพราะนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย จนกว่าจะมั่นใจในสถานการณ์การ

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.95-34.20 บาท/ดอลลาร์

You can share this post!