เบเยอร์เผยภาพรวมตลาดสีทาอาคารยังทรงตัวใกล้เคียงปี 66 โดยเฉพาะภาคอสังหาฯมีการเปิดตัวใหม่อย่างมีนัย เชื่อ 2 เดือนที่เหลือต่อเนื่องปี 68 ตลาดฟื้นตัวดีขึ้น และเฝ้ารอมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ คาดปลายปีจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเป็น 20% จากมูลค่าตลาดรวม 22,000 ล้านบาท ปีหน้าเล็งขยายโรงงานย่านสุขสวัสดิ์ อีก 50 ไร่ เพิ่มกำลังการผลิต พร้อมเดินหน้าสานต่อแนวคิด "Eco-Wellness Innovation" ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย "นวัตกรรม" เปิดตัวผลิตภัณฑ์ "BegerCool" โดยใช้เทคโนโลยี "AeroTech" วัสดุแห่งอนาคตเข้ามาเสริมแกร่งให้กับผนังบ้าน ภายใต้แนวคิด "เย็นขึ้น ทนกว่า" เพื่อยืนหยัดการเป็น The Best Cool Paint ปักธงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจด้วยสีรักษ์โลก ปูพรมเติมเต็มอาคารรักษ์โลกหรือ "Low Carbon Building Design" ในห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจ มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions
ดร.วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สีเบเยอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และสีทาอาคารก็เป็นอีกหนึ่งพาร์ทในการช่วยลดโลกร้อนได้ ซึ่งตลาดสีในประเทศไทยต้องมีการพัฒนานับจากนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง และหนึ่งในนั้น คือการทำให้สีอาคารมีความคงทนที่ยาวนานมากขึ้น ไม่ต้องทาบ่อย ซึ่งก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่เบเยอร์ผลิตสีนวัตกรรมใหม่ๆที่เพิ่มความคงทนยาวนานและลดคาร์บอนฯมากขึ้น
สำหรับภาพรวมตลาดสีทาอาคาร ปี 2567 มองว่ามีความใกล้เคียงกับปี 2566 โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ที่การเปิดตัวโครงการใหม่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันเบเยอร์นั้นช่องทางการขายก็ยังเน้นขายผ่านโครงการ และผ่านร้านค้า ซึ่งในส่วนนี้ยังสามารถขยายตัวได้ ซึ่งหวังว่าในช่วงระยะเวลา 2 เดือนที่เหลือ มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นฤดูกาลการขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งก็จะรักษาตลาดให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนทิศทางตลาดปี 2568 มองว่าจะมีอัตราการเติบโตกว่าปี 2567 แต่ทั้งนี้ต้องรอดูมาตรการภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นตลาด โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาฯ ที่ผ่านมาก็มีในเรื่องของสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน และยังจะมีในเรื่องของเงิน 10,000 บาท เฟสที่ 2 รวมไปถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีอัตราการเติบโตได้มากน้อยเพียงใด คงต้องรอดูมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นก่อนปัจจุบันเบเยอร์มีดีลเลอร์รวมประมาณ 2,000 ร้านค้า และคาดว่าในปี 2568 จะขยายเพิ่มเป็น 3,000-4,000 ร้านค้า อย่างไรก็ตามปัจจุบันเบเยอร์ ถือว่าเป็นเบอร์ 2 ของผู้ประกอบการสีทาอาคาร จากมูลค่าตลาดรวมที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะมีส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 20%
นอกจากนี้ในปี 2568 ยังเน้นในเรื่องการผสมผสาน ทั้งการสร้างการรับรู้กับผู้ประกอบการอสังหาฯก่อน เพราะเป็นลูกค้าตรงของเบเยอร์ เนื่องจากเป็นองค์กรที่สามารถนำนวัตกรรมต่างๆไปกระจายสู่ผู้บริโภคได้ในวงกว้าง อย่างที่บริษัทฯได้ดำเนินการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็จะเสริมในด้านการทำตลาดเข้าไปด้วย ซึ่งเชื่อว่าปัจจุบันผู้บริโภคโดยทั่วไปเริ่มรับรู้ภาระที่ทุกคนจะพยายามช่วยลดโลกร้อนแล้ว เพราะฉะนั้นสีทาอาคารที่ตอบโจทย์ลดโลกร้อนจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยจะรุกตลาดแมสมากขึ้น ด้วยการสื่อสารทางการตลาดทุกช่องทาง รวมไปถึงจะขยายโรงงานในย่านสุขสวัสดิ์ (พระประแดง)เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาใช้พื้นที่ในการตั้งโรงงานไปเพียง 50 ไร่ และยังเหลือพื้นที่ในการขยายโรงงานได้อีกประมาณ 50 ไร่ ส่วนรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้
“กว่า 6 ทศวรรษในการดำเนินธุรกิจ หนึ่งในกุญแจที่สำคัญของการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์จนกลาย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงในตลาดผู้บริโภคทั้งบ้านเรือน อาคารและสำนักงาน คือ การนำเอานวัตกรรมมาผนวกใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ‘เบเยอร์คูล’ (BegerCool) ถือเป็นผลิตภัณฑ์เรือธงในผลงาน เชิงประจักษ์ที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศ (Champ of the Champ) จากเวทีนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 เพียงหนึ่งเดียว ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก 300 แบรนด์ โดยประกอบไปด้วยบริษัทชั้นนำจากทุกอุตสาหกรรมทั่วประเทศ และ ยอดขายอันดับ 1 กว่า 18 ปี ในฐานะ "ผู้นำตลาดสีบ้านเย็น" ล่าสุดได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ่านการนำเอาเทคโนโลยี ‘AeroTech’มาพัฒนาทำให้สีทาบ้านของเบเยอร์มีความ ‘เย็นขึ้น ทนกว่า’ พร้อมตอบโจทย์และเติมเต็มทุกการอยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” ดร.วรวัฒน์ กล่าว
ดร.วรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า เบเยอร์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องตามกรอบแนวคิด “Eco-Wellness Innovation” โดยสำหรับผลิตภัณฑ์ จากเบเยอร์ อย่าง "เบเยอร์คูล" ล่าสุดได้นำเอาเทคโนโลยี “AeroTech” มาผนวกใช้ควบคู่กับ "Ceramic Cooling" ในการผลิตซึ่งมีความโดดเด่นในด้านสะท้อนความร้อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยิ่งที่สุดแห่งยุค จนเกิดการพัฒนาที่รักษ์บ้านและรักษ์โลกขั้นกว่า ด้วยหลักการทำงาน “Double Cool, Double Protection” ช่วยสะท้อนความร้อน ส่งผลให้ฟิล์มสีมีความทนทาน และไม่ถูกทำลายจากความร้อนช่วยให้ผนังบ้านมีความเย็นขึ้น โดยเบเยอร์มุ่งมั่นผสานคุณสมบัติที่โดดเด่น (High Performance) และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมในทุกห่วงโซ่อุปทาน โดยการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ในครั้งนี้ ใช้งบในการทำตลาดประมาณ 30 ล้านบาท
"สำหรับความโดดเด่นของ เบเยอร์คูลที่มาพร้อมกับ เทคโนโลยี AeroTech เสมือนฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง โดยผลิตจากซิลิกา/ซิลิเกต (Sillica/Silicate) ทนทานต่อรังสี UV สามารถ "สะท้อนและสกัดกั้นความร้อนได้สูงสุดถึง 97.5%” ไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้าน ทดสอบโดยสถาบันทดสอบด้านรังสีและความร้อน OTM Solutions ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจากการทดสอบสามารถ "ลดอุณหภูมิได้สูงสุด 6 องศาเซลเซียส" และช่วย "ประหยัดค่าไฟได้กว่า 32%" และที่สำคัญความโดดเด่นในการทนทานต่อความร้อนนั้นส่งผลให้บ้านหรืออาคารที่เลือกใช้สีเบเยอร์คูลมีอายุการใช้งานที่นานขึ้นกว่า 10 ปี
อย่างไรก็ดีเบเยอร์ยังคง มุ่งเน้นการผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิต (embodied carbon) ให้น้อยที่สุด ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนฯจากการใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำความเย็นในบ้านหรือในตัวอาคารหลังจากผู้อยู่อาศัยย้ายเข้ามา (operational carbon) ส่งผลให้ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา เบเยอร์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วกว่า 350,000,000 กิโลกรัมคาร์บอนหรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ชดเชยมากกว่า 5,594,492 ต้น โดยปัจจุบันถือได้ว่า เบเยอร์เป็นผู้ผลิตสีรายแรกในประเทศที่ผลักดันให้เกิดสินค้าสีที่ช่วยสะท้อนความร้อนและเป็นฟันเฟืองสำคัญในอุตสาหกรรมสีที่ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
นายพงษ์เชิด จามีกรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบเยอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดกับค่าการคาดหวังของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในส่วนของเบเยอร์เองในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาสีและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมาโดยตลอด เพราะมีการพัฒนานวัตกรรมสีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และมาตรการของภาครัฐที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเบเยอร์ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกและภาครัฐมาโดยตลอด และมองว่าสุดท้ายความยั่งยืนของตลาดจะกลายเป็นจุดหนึ่งที่ทุกคนจะให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ในทศวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสีทาบ้านมีการแข่งขันสูง ซึ่งที่ผ่านมาเบเยอร์ให้ความสำคัญทั้งในด้านคุณภาพและเทคโนโลยีผ่านการต่อยอดสร้างนวัตกรรมที่สอดรับกับความต้องการของตลาดโดยเฉพาะในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เบเยอร์คูลกลายเป็นที่ยอมรับในตลาดสีรักษ์โลกตลอด 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา
สำหรับในปี 2568 เบเยอร์ตั้งเป้าขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในกลุ่มสีรักษ์โลกปีละ 15% ภายใน 1-2 ปีจากนี้ ซึ่งนอกจากเป็นที่ต้องการในตลาดสียังสอดคล้องกับนโยบายจากภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการใช้วัสดุรักษ์โลกและช่วยลดคาร์บอนหรือ "Green Product"
"สำหรับแผนการพัฒนาของเบเยอร์ในปี 2568 ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อให้สอดรับกับมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) และ Carbon Tax ของตลาดโลก รวมถึงนำเอานวัตกรรมมาผนวกใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกตลอดห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้ง "Net Zero Innovation & Solution Center" เพื่อเป็นศูนย์กลางให้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งห่วงโซ่อุปทานมาพัฒนาโครงการต้นแบบในการสร้างธุรกิจคาร์บอนต่ำ มากไปกว่านั้นยังมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และใช้สีนวัตกรรมรักษ์โลกขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ภาคการก่อสร้าง เพื่อร่วมสร้างอาคารเขียวรักษ์โลกหรือ "Low Carbon Building Design" เป็นไปได้ง่ายขึ้นและเข้าถึงได้มากขึ้นให้กับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero อย่างยั่งยืน สอดรับกับพันธกิจที่สำคัญของเบเยอร์ในการเป็น "ผู้นำสีนวัตกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม" นายพงษ์เชิด กล่าวในที่สุด