จดหมายเปิดผนึก สภาเภสัชกรรม (ฉบับที่ 3)
เรื่อง ชี้แจงกรณีแถลงการณ์แพทยสภา ฉบับวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
สืบเนื่องจากแถลงการณ์แพทยสภา เรื่อง ความเข้าใจในกรณีการฟ้องศาลปกครอง เกี่ยวเนื่องกับ โครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้สมาชิกเภสัชกรกังวลใจเป็นอย่างยิ่งในข้อมูลและทัศนคติดังกล่าว และอาจส่งผลต่อการทำงานร่วมกันของสหสาขาวิชาชีพในการร่วมดูแลประชาชนด้านยาและสุขภาพ
สภาเภสัชกรรม ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.กระบวนการพิจารณาโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยร้านยาคุณภาพ ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาและกลั่นกรองหลายขั้นตอน โดยอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งคณะอนุกรรมการกําหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข คณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการกองทุน คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และในที่สุดเสนอ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนแพทย์ เภสัชกร และวิชาชีพอื่น ๆ ภาคประชาสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่น ๆ จึงมีมติเห็นชอบให้ดําเนินการในโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรร้านยา ดังกล่าวนี้ โดยมีรายละเอียดแนวปฏิบัติที่รอบคอบ เพื่อให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้รับบริการ โดยให้บริการตั้งแต่ 31 ตุลาคม 2565 จนถึง 21 พฤศจิกายน 2567 มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 1,791,930 คน จํานวนครั้ง 4,985,145 ครั้ง ร้อยละ 90 อาการหายหรือทุเลา ไม่พบกรณีที่ผู้เข้ารับบริการที่เกิดปัญหารุนแรง หรือเสียชีวิตแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ที่ได้รับการคัดกรองเบื้องต้นจากเภสัชกร มีบางส่วนได้รับการส่งต่อแพทย์ทันที ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพเบื้องต้น แนะนําการใช้ยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ และจากผลการสํารวจพบว่า ประชาชนที่เข้ารับบริการในโครงการนี้มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด
2.กระบวนการซักประวัติเพื่อจ่ายยาในการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เป็นมาตรฐานที่เภสัชกรให้การบริบาลต่อผู้ป่วยมาเป็นเวลานานมากกว่า 70 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ.2479) และเป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม ตามพระราชบัญญัติยาและพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งเดิมประชาชนเป็นผู้จ่ายค่ายาเอง สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นประโยชน์ของการบริบาลทางเภสัชกรรมดังกล่าว จึงได้บรรจุเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนโดยใช้งบประมาณของ สปสช. ซึ่งงบประมาณดังกล่าวได้มาจากภาษีของประชาชน ในขณะที่กรรมการแพทยสภาบางท่านได้มีการเผยแพร่ ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า “การฟ้องร้อง สปสช.และสภาเภสัชกรรมโดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัชกร จ่ายยา ตามบริบทเดิม แม้แต่น้อย” ซึ่งอาจตีความได้ว่า หากเป็นกรณีผู้ป่วยจ่ายเงินเอง แพทยสภาไม่ขัดข้อง แต่หาก สปสช. จ่ายค่าบริการแทนประชาชน ดังเช่นในโครงการฯนี้ แพทยสภากลับฟ้องร้องว่าไม่ปลอดภัย จึงทําให้มีข้อสังเกตว่า การฟ้องร้องดังกล่าว เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชน มากน้อยเพียงไร
3.สภาเภสัชกรรม ขอขอบพระคุณเพื่อนแพทย์ ที่ได้ให้กําลังใจเภสัชกรในฐานะ “ทีมสุขภาพ” ด้วยความเป็นมิตรและให้เกียรติซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของความเข้าใจในสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำ ยังมีประชาชนจํานวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ โดยเฉพาะในอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งเป็นความทุกข์และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส แต่เป็นการยากมากที่จะเข้าถึงแพทย์ และมีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางเข้ารับบริการนี้ที่โรงพยาบาล พยาบาล ในขณะที่ต้องหาเช้ากินค่ำ
อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเหล่านี้ ไม่จําเป็นต้องผ่านการตรวจร่างกายหรือส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่สามารถที่จะซักถามเพื่อประเมินอันตรายโดยเภสัชกรซึ่งเป็นผู้ที่ร่ำเรียนด้านยาในด้านต่างๆ จากหลักสูตร การศึกษา 6 ปี ในคณะเภสัชศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาเภสัชกรรม และยังผ่านการอบรมในโครงการร้านยาคุณภาพอีกด้วย หากมีความเสี่ยงอันตรายที่จะเป็นโรคร้ายแรง เภสัชกรจะรีบส่งต่อไปให้แพทย์ดูแลโดยด่วนตามมาตรฐานวิธีปฏิบัติงานที่กําหนด โดยหากมั่นใจว่าเป็นเพียงอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เภสัชกร จะเลือกสรรยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการและดูแลอาการเจ็บป่วย อย่างเหมาะสม รวมทั้งทําการติดตามผลการใช้ยา เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนที่ได้รับบริการตามโครงการฯนี้ สามารถกลับไปประกอบอาชีพ หาเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการกลั่นกรองผู้ป่วย เพื่อลดภาระงานบริการ เพื่อให้แพทย์สามารถใช้เวลากับผู้ป่วยในโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย
4. สภาเภสัชกรรมเห็นด้วยว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนควรคํานึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสําคัญ และขอให้แพทยสภาพิจารณาถึงประเด็นความปลอดภัยในการใช้ยาให้ครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคลินิก ซึ่งส่วนใหญ่ยังพบว่าฉลากยาไม่ระบุชื่อยาและรายละเอียดเกี่ยวกับยาที่จ่าย ทําให้ไม่สามารถตรวจสอบและตรวจสอบย้อนกลับได้หากมีปัญหาการใช้ยา และไม่เป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา พ.ศ.2565 เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง อีกทั้งผู้ส่งมอบยาอาจเป็นผู้ที่มิได้มีความรู้เรื่องยา จึงขอให้ทางแพทยสภาพิจารณาการให้บริการในลักษณะดังกล่าวของคลินิกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของ ประชาชนด้านยาและสุขภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสูงสุด
สภาเภสัชกรรม ขอขอบคุณ เภสัชกร ที่ร่วมการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้ง หลายท่านยังเสนอแนวทางในการเพิ่มคุณภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยาของประชาชน และขอขอบคุณเพื่อนแพทย์หลายท่านที่แสดงความปรารถนาดีต่อประชาชนอย่างจริงใจ ด้วยการอาสาที่จะช่วย เพิ่มพูนทักษะ ให้เภสัชกร ให้มีสมรรถนะในการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอย่างรวดเร็วขึ้น ตลอดจนการร่วมพัฒนาแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยร่วมกันที่ชัดเจนระหว่างแพทย์และเภสัชกร
สภาเภสัชกรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า แพทยสภา จะเปิดใจ “หยุดและทบทวน” ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนความคิด รับฟังความเห็นและความรู้สึกของประชาชน ร่วมกันสร้างความสามัคคีและการทํางานร่วมกันของภาคีสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อย่างยั่งยืน
สุดท้ายนี้ สภาเภสัชกรรม พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับแพทยสภาในการหาทางออกที่เหมาะสม บนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกัน การให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตามจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการทํางานร่วมกันของวิชาชีพ โดยอยู่บนพื้นฐานที่สําคัญที่สุด คือ ประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนอย่างแท้จริง
สภาเภสัชกรรม
21 พฤศจิกายน 2567