news-details
Business

บาท"อ่อนค่า" เปิดเช้านี้ 34.74 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.74 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” กรุงไทย คาดวันนี้จะอยู่ที่ 34.60-34.85 บาท/ดอลลาร์ รอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด BOE - ECB และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.74 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.61 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 34.47-34.75 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่า โดยรวมเงินดอลลาร์จะทยอยอ่อนค่าลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ตอบรับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เลือกสก็อต เบสเซนต์ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่ในรัฐบาล Trump 2.0 ทว่า เงินบาทยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงหนักกว่า -2.4% ในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จากข่าวอิสราเอลใกล้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah

ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดก็มองว่า หากสก็อต เบสเซนต์ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่ได้จริง ก็จะช่วยลดโอกาสที่รัฐบาล Trump 2.0 จะดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรง รวมถึง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจถูกกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมน้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องถึง -3% ในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่าน รายงานการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด (รับรู้ในช่วงราว 02.00 น. ตามเวลาประเทศไทยของวันพุธนี้) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลักดังกล่าว

ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศในเดือนตุลาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการส่งออก (Exports) อาจขยายตัวราว +5.2%y/y ตามการทยอยฟื้นตัวของการค้าโลก ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) อาจโตราว +6.3%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุล -300 ล้านดอลลาร์ จากที่เกินดุลเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกันยายน

นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ความคืบหน้าของการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hezbollah รวมถึง สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินได้พอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้ง ทองคำและน้ำมันดิบ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มกลับมามีกำลังมากขึ้น หลังราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหนัก ส่งผลให้เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว แม้ว่าโดยรวม เงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หรือมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างก็ตาม ทำให้เงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งหากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็อาจอ่อนค่าต่อทดสอบแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน โดยเรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปได้ หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์และขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) แถวโซนแนวต้านดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ เงินบาทอ่อนไหวต่อทิศทางราคาทองคำพอสมควร ทำให้ เงินบาทก็อาจอ่อนค่าได้เร็ว แรง กว่าที่ประเมินไว้ หากราคาทองคำปรับตัวลงหนัก ซึ่งต้องจับตาว่า ราคาทองคำจะปรับตัวลงต่อหลุดโซนแนวรับราคาทองคำ (XAUUSD) แถว 2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (แนวรับถัดไป แถว 2,540-2,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์)

อนึ่ง หากราคาทองคำเริ่มรีบาวด์ขึ้นได้ราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในกรณีที่ตลาดกลับมากังวลปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์อีกครั้ง ซึ่งต้องติดตามทั้งสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับ Hezbollah ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ เราประเมินว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อาจช่วยชะลอแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานยอดการค้าระหว่างประเทศของไทย เพราะหากดุลการค้าเกินดุล สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ ก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้ ขณะที่ หากยอดการส่งออกขยายตัวแย่กว่าคาด จนทำให้ขาดดุลการค้าหนักกว่าที่ตลาดมองไว้ ก็อาจยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.85 บาท/ดอลลาร์

You can share this post!