เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 โดยมี นางสาวยุพาภรณ์ ศิริกิจพาณิชย์กูล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงดีอี ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ รร.มิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวว่า การกำกับดูแลเรื่องของไปรษณีย์ของประเทศไทย อยู่ภายใต้โครงสร้างของ พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกฎหมายฉบับที่เก่า มีการบังคับใช้มานานฉบับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับไปรษณีย์มีนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการกิจการไปรษณีย์ก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ มีรูปแบบระบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่าหน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนมีความสนใจในประเด็นสำคัญ อาทิ การจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการดำเนินงานด้านไปรษณีย์และบริการที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อเสนอการจัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแล หรืออื่นๆ รวมทั้งระบบการลงทะเบียนการขออนุญาตประกอบกิจการไปรษณีย์ของภาคเอกชน รวมทั้ง การออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ให้บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์รายอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์น้ำหนักเบาได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล แต่กฎหมายที่ควบคุมดูแลเรื่องของไปรษณีย์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน จึงจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล นำไปสู่การเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ดังนั้น ถ้าหากต้องการให้ผู้บริโภคได้รับการบริการที่ดี ผู้ที่ทำหน้าที่ในการบริการจะต้องมีการบริหารจัดการ การควบคุมที่ดี ดังนั้นหากจะพัฒนาระบบไปรษณีย์ของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพในการให้บริการ กฎหมายไปรษณีย์คือหลักสำคัญ” ปลัดกระทรวงดีอี กล่าว