นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงคมนาคมเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความพร้อมในการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติดำเนินการก่อสร้างโครงการนั้น
วันที่ 3 ธ.ค. 67 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงดำเนินการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน –บางบัวทอง โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบ พร้อมการดำเนินงาน และบำรุงรักษาตลอดทั้งสายทาง
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการในรูปแบบการให้สัมปทานเอกชน หรือ PPP Net Cost มีระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 34 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี และ ดำเนินการและบำรุงรักษา หรือ O&M 30 ปี) โดยมีวงเงินลงทุนโครงการฯ ประมาณ 56,035 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบคือค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,235 ล้านบาท และเงินลงทุนของภาคเอกชน จำนวน 51,782 ล้านบาท ประกอบด้วยการก่อสร้างงานโยธา งานระบบตลอดทั้งสายทาง โดยเอกชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรายได้ค่าผ่านทางของโครงการและเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้โดยตรง และจะได้รับเงินร่วมลงทุนจากภาครัฐตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีกรอบวงเงินร่วมลงทุนที่เป็นมูลค่าปัจจุบันไม่เกินมูลค่าก่อสร้างงานโยธา ซึ่งจะทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดให้บริการ มีกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 15 ปี (เป็นจำนวนเงินมูลค่าปัจจุบันรวมแล้วไม่เกิน 47,521.04 ล้านบาท) ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะได้พิจารณากำหนดวิธีการหรือกลไกการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมหรือปรับลดการสนับสนุนเงินร่วมลงทุนในกรณีที่ปริมาณจราจรหรือรายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางของโครงการ สูงกว่าที่ประมาณการไว้มาก รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขตัวชี้วัดระดับคุณภาพการให้บริการ (KPI) เพื่อให้เอกชนคู่สัญญารักษาคุณภาพระดับการให้บริการที่ดีและปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้ทาง โดยกรมทางหลวงคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 2568 และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในปี 2569
สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน –บางบัวทอง มีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 35.85 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านทิศใต้ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว และโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ตลอดสายทางมีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow โดยมีอัตราค่าผ่านทางรถยนต์ 4 ล้อ มีค่าแรกเข้า 10 บาท และเพิ่มขึ้นตามระยะทางประมาณ 1.5 บาทต่อกิโลเมตร มีทางขึ้น-ลง ในโครงการเพื่อเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมหลักตลอดแนวเส้นทางเป็นทางขึ้น 8 จุด และทางลง 6 จุด มีทางแยกต่างระดับ 5 แห่ง รวมจุดเข้า-ออกเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ M81 บางใหญ่ - กาญจนบุรี บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่
ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งผลให้การเดินทางเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้ากับพื้นที่ภูมิภาคโดยรอบ รวมถึงเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษ/ทางพิเศษให้สมบูรณ์ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ทำให้เกิดความคล่องตัว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้ทางเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 18,000 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวด้านการผลิต การขยายตัวด้านรายได้รวมของระบบเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน