ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 34.29 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” กรุงไทย มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดอยู่ที่ 34.20-34.35 บาท/ดอลลาร์ ระวังความผันผวนช่วงใกล้วันหยุดปลายปี
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.29 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.19 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ก่อนที่จะแกว่งตัว Sideways ใกล้โซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 34.19-34.31 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็เลือกจะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long ทองคำที่ได้กำไรมาพอสมควรในปีนี้ นอกเหนือจากแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board (Consumer Confidence) เดือนธันวาคม กลับลดลงสู่ระดับ 104.7 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาด (112.9 จุด) ไว้พอสมควร
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก โดยในฝั่งสหรัฐฯ จะมีเพียงยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงรายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ เช่น เฟดสาขา Dallas และ Richmond ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินมากนัก เมื่อประเมินจากสถิติในอดีตรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ทว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงปริมาณการทำธุรกรรมต่างๆ ในตลาดการเงินที่จะเบาบางลงในช่วงใกล้วันหยุดปลายปี ทั้ง Christmas และ New Year ซึ่งหลายตลาดการเงินอาจปิดทำการในวันนี้ หรือเปิดทำการเพียงครึ่งวัน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways แถวโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราคาดว่า เงินบาทจะมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน (เลือกทิศทาง) มากขึ้น หลังการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม ทำให้เมื่อประเมินจากสถิติในอดีตที่ผ่านมานั้น เงินบาทยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways ก่อนจะถึงวันดังกล่าว โดยปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่อาจจะรับรู้ก่อนถึงวันเริ่มงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาล Trump 2.0
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้ลุ้นแรงหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เริ่มทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งหุ้นไทยได้บ้าง ทว่าแรงซื้อหุ้นไทยดังกล่าว อาจไม่ได้ช่วยหนุนเงินบาทมากนัก หากนักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) หลังเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าจากช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ มากว่า +2% ซึ่งเราเริ่มเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นออกมาบ้างในช่วงนี้ ที่อาจสะท้อนการปรับสถานะดังกล่าวได้ นอกจากนี้ อาจต้องติดตามการเคลื่อนไหวของทั้งราคาทองคำและเงินหยวนจีน (CNY) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้พอสมควรในช่วงนี้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.35 บาท/ดอลลาร์