ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 34.14 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าเล็กน้อย”กรุงไทย คาดจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 34.05-34.25 บาท/ดอลลาร์ ในช่วง 24 ชั่วโมง ลุ้นดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะเศรษฐกิจเดือนพฤศจิกายนของไทย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.14 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าเล็กน้อย”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.22 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 34.12-34.27 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD และผู้เล่นบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ แม้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีไม่มาก ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจก็ออกมาผสมผสาน โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 2.19 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาด ทว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) กลับเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 1.91 ล้านราย มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ไม่ได้แข็งแกร่งมากนัก (แม้จะมีการเลิกจ้างไม่มาก แต่แรงงานในสหรัฐฯ ก็ใช้เวลานานมากขึ้น ในการหางานใหม่ หรือกล่าวได้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ มีลักษณะ Slow to Fire and Slow to Hire)
นอกจากนี้ เงินบาทยังได้อานิสงส์จากการทยอยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถกลับมาแกว่งตัวแถวโซน 2,630-2,640 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาทองคำ ทว่าราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน ท่ามกลางความต้องการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long ทองคำ ของบรรดาผู้เล่นในตลาด
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก โดยบรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นได้บ้าง
ส่วนในฝั่งไทยจะมีรายงานสรุปดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะเศรษฐกิจรายเดือน ประจำเดือนพฤศจิกายน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราประเมินว่า โซนแนวรับเงินบาทอาจอยู่แถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นแนวรับสำคัญเชิงจิตวิทยา) ขณะที่โซนแนวต้านอาจยังคงอยู่แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา จนทะลุโซน 34.15 บาทต่อดอลลาร์ ได้ทำให้สัญญาณจากกลยุทธ์ Trend-Following กลับมาสะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ซึ่งเรามองว่า ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่าเงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าต่ำกว่าโซนดังกล่าวได้อย่างชัดเจนหรือไม่ และเราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ หากเห็นการแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ จนมาทดสอบโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยภาพดังกล่าวก็จะสอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงก่อนที่รัฐบาล Trump 2.0 จะเริ่มดำเนินนโยบายต่างๆ
ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทก็อาจขึ้นอยู่กับ แนวโน้มราคาทองคำ ซึ่งมีโอกาสที่ราคาทองคำอาจย่อตัวลงบ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways ท่ามกลางแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในช่วงเช้าวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคงคาดหวังแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้เงินเยนญี่ปุ่นทยอยแข็งค่าขึ้นและอาจจำกัดการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ได้
อนึ่ง นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรติดตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติเช่นกัน หลังหลายตลาดการเงินจะเริ่มกลับมาทำการตามปกติ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อ ขาย สินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจคึกคักมากขึ้น
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.25 บาท/ดอลลาร์