news-details
Business

“Stem Cell” คือประกันทางสุขภาพที่มั่นคงและปลอดภัย

มีการพูดถึงการนำสเต็มเซลล์ไปใช้ในการรักษาโรค รวมถึงการเสริมความงาม และในปัจจุบันมีบริษัทเอกชนเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ จึงทำให้ประชาชนอาจสับสนว่า หากเป็นโรค...จะขอให้หมอรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้หรือไม่? หรือคนในครอบครัวที่มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมควรจะเก็บสเต็มเซลล์หรือไม่? ผู้ป่วยจะขอรับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้หรือไม่? ...ควรจะเก็บสเต็มเซลล์ดีหรือไม่? ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องนี้จริงหรือ? ค่ารักษาเท่าไหร่? เรื่องดังกล่าว “ดร.นพ.ศุภชัย เอกวัฒนกิจ” อายุรศาสตร์โลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาไขข้อข้องใจกัน

เริ่มกันที่สเต็มเซลล์ยังเป็นเรื่องที่จำกัดในวงแคบของวงการเสื้อกราวน์

ดร.นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันสเต็มเซลล์ที่ไม่ใช่กลุ่มเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นเรื่องที่ใหม่มาก มีแพทย์ทั่วไปน้อยคนที่จะรู้รายละเอียดเรื่องสเต็มเซลล์ ถ้าถาม 100 คน อาจมี 1-2 คนที่รู้และตอบได้ว่าสเต็มเซลล์ที่เป็นการรักษาใหม่คืออะไร เพราะเนื่องจากมันเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สเต็มเซลล์ไม่ใช่การรักษาที่เป็นมาตรฐานจึงไม่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร เพราะฉะนั้นแพทย์ทั่วไปจะไม่รู้ แต่เรื่องดังกล่าวกลับมีการสอนอยู่ในกลุ่มแพทย์ทางเลือก ที่มีการเปิดหลักสูตรสอน แต่สอนเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนของประโยชน์ในการนำไปใช้ แต่ไม่ได้สอนเรื่องโทษที่ต้องระวัง การจะเข้าใจสเต็มเซลล์จำเป็นต้องรู้ลึกไปถึงเรื่องของงานวิจัยในแต่ละโรคต่างๆ

เป็นที่รู้กันว่า ความเชี่ยวชาญของแพทย์ในการใช้สเต็มเซลล์มีอยู่ในวงจำกัดมาก แม้แต่ในแวดวงของโรงเรียนแพทย์ที่มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้โดยตรง แต่ละโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลจะมีงานวิจัยน้อยมากแทบจะนับได้ จึงเป็นการยากที่จะบอกได้ว่ามีแพทย์ที่สนใจหรือรู้เรื่องนี้ หรือให้คำตอบเรื่องนี้ได้มากน้อยเพียงใด

“ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากสำหรับผู้ป่วยที่สนใจ ส่วนใหญ่ในสังคมเราอาจจะรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสเต็มเซลล์ เช่น บริษัทที่รับฝากสเต็มเซลล์สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีการับฝากสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือ หรือจากเนื้อเยื่อ ซึ่งหมายถึง MSCs (Mesenchymal Stem Cells) นั่นเอง และด้วยข้อจำกัดของกฎหมายในปัจจุบันทำให้ การรักษาด้วยสเต็มเซลล์เหมือนสิ่งที่ต้องซ่อนอยู่ใต้ดิน จึงเป็นการรักษาที่หมอพูดคุยกับผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการเฉพาะราย” 

ประชาชนจำเป็นต้องเก็บสเต็มเซลล์หรือไม่?

ในเรื่องนี้ ดร.นพ.ศุภชัย มองว่า การเก็บสเต็มเซลล์เหมือนกับการทำประกันชีวิต เหมือนเป็นการประกันสุขภาพ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าในอนาคตจะจำเป็นต้องใช้เมื่อไหร่ การรักษามีหลายแบบในงานวิจัย บางกลุ่มโรคพบว่า การให้สเต็มเซลล์ในช่วงระยะเวลาภายหลังการเกิดโรคไม่นานจะให้การตอบสนองที่ดีกว่า แต่บางโรคมีข้อมูลมากขึ้นว่า เมื่อเป็นโรคเรื้อรังมาระยะหนึ่งแล้วการให้สเต็มเซลล์ยังได้ประโยชน์อยู่

“ดังนั้นประชาชนควรจะเก็บสเต็มเซลล์หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับมุมมองของเราว่า เราต้องการให้ความมั่นคงทางสุขภาพแบบใด ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลในคนไข้ที่เป็นเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน พบว่า ในคนที่รักษาตามมาตรฐานในเบื้องต้นแล้วได้ผลไม่ดี หัวใจยังมีการบีบตัวไม่ดี พบว่าการให้สเต็มเซลล์ที่เร็วจะช่วยให้มีการฟื้นฟูที่ดีกว่ากลุ่มที่ได้รับช้า จึงขึ้นอยู่กับว่าเรามองว่าเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพของเราเป็นอย่างไร” ดร.นพ.ศุภชัย กล่าว

ส่วนเรื่องอายุการเก็บสเต็มเซลล์ ปัจจุบันหลักการการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ต่างๆ ที่เป็นการรักษามาตรฐาน หรือสเต็มเซลล์ที่เพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น MSCs เป็นการจัดเก็บในถังไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิที่เย็นมาก -196 องศาเซลเซียส ตามหลักการสามารถจัดเก็บได้ยาวนานตามอุณหภูมิที่กำหนดไว้ จากข้อมูลปัจจุบันเรายังไม่มีข้อมูลที่เป็นหลักฐานชัดเจนว่า 100 ปี ผ่านไปสเต็มเซลล์เหล่านี้จะมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยทฤษฏีแล้วน่าจะยังเก็บได้และมีคุณสมบัติการรักษาได้

“ส่วนช่วงอายุในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ไม่ได้มีจำกัดว่าจะต้องใช้ของคนที่มีอายุน้อยเท่านั้น เพราะเราพบข้อมูลว่าในคนที่อายุมากในหลายการศึกษาที่ศึกษาในคนสูงอายุ 60-70 ปี ขึ้นไป ยังสามารถใช้สเต็มเซลล์ของตนเองได้”

ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นอย่างไร?

ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาปัจจุบันขึ้นอยู่กับมาตรฐานของห้องปฏิบัติการแต่ละแห่ง สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดราคา คือ การเพิ่มจำนวนของสเต็มเซลล์ การใช้น้ำยาเลี้ยงที่แตกต่างกันก็จะมีผลดีผลเสียที่แตกต่างกัน ถ้าไปดูที่คลินิกความงามจะพบว่าค่าใช้จ่ายที่ซื้อขายสเต็มเซลล์บางที่ค่อนข้างต่ำมาก อาจจะแค่หลักหมื่นต้นๆ แต่ต้องบอกว่าสเต็มเซลล์เหล่านี้เราไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ว่ากระบวนการผลิตเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นห้องปฎิบัติการที่ได้มาตรฐานจะใช้น้ำยาที่เป็นเกรดมาตรฐานใช้กับมนุษย์ได้ ค่าใช้จ่ายและต้นทุนมันจะสูงขึ้น จากราคาหลักหมื่นอาจขึ้นไปเป็นหลักแสน

ศักยภาพของโรงพยาบาลในประเทศไทยที่รักษาด้วยสเต็มเซลล์?

ดร.นพ.ศุภชัย กล่าวว่า มีโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้นที่สามารถรักษาด้วยสเต็มเซลล์ได้ เนื่องจากข้อจำกัดของกฎหมายบางอย่าง ที่ทำให้ไปจำกัดความรู้ให้อยู่แค่ในวงวิชาการเล็กๆ ขาดความรู้ในวงกว้างทั้งในด้านประโยชน์-โทษ ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจถึงสเต็มเซลล์ในแง่ของความงาม การฟื้นฟูสภาพผิวเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วสเต็มเซลล์มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้เยอะมากถ้าเราจะดึงมาใช้

ปัจจุบันกลุ่มแพทย์ที่นำมาใช้ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับความงาม ซึ่งถ้าเรามีการสนับสนุนทางวิชาการให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งด้านโทษและประโยชน์ของสเต็มเซลล์ให้คนทั่วไป และประชาชนเข้าถึงได้ โดยทางแพทย์ พยาบาลที่เกี่ยวข้อง รับทราบว่ามีอะไรบ้างที่ต้องระวัง ก็จะเป็นประโยชน์โดยรวม และทำให้เราพัฒนาวงการด้านสเต็มเซลล์ได้มากขึ้น

ข้อจำกัดเกี่ยวกับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์มีอะไรบ้าง?

ดร.นพ.ศุภชัย กล่าวว่า สิ่งที่เป็นข้อจำกัดและสำคัญที่สุด คือ กฎหมาย ปัจจุบันทางด้านกระทรวงสาธรณสุข พยายามจะออกกฎระเบียบ จัดระเบียบต่างๆ ร่วมกับองค์การอาหารและยา เพราะว่าสเต็มเซลล์ถือว่าเป็นการรักษาอย่างหนึ่งที่ต้องขึ้นทะเบียนการรักษา ซึ่งทำให้ปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะไปในแนวทางไหน เพื่อให้เหมาะสมกับประเทศ เรารอกฎหมาย กฎการนำมาใช้ที่เริ่มออกมาตั้งแต่ก่อนยุคโควิดที่เราพยายามออกมาตรฐานต่างๆ ในปัจจุบันเบื้องต้นเราออกมาตรฐานเบื้องต้นสำหรับห้องปฏิบัติการว่าจะต้องมีมาตรฐานอย่างไร โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการใช้สเต็มเซลล์ทางการแพทย์ ส่วนรายละเอียดวิธีการตรวจประเมินต่างๆ นั้นยังออกระเบียบมาไม่ครบถ้วน ผ่านมา 3-4 ปี เรายังไปไม่สุดทาง ปัจจุบันเรายังรอตรงนี้อยู่

ข้อควรระวังที่สำคัญในการใช้สเต็มเซลล์?

ข้อควรระวังที่สำคัญ แบ่งเป็น 2 เรื่องหลักๆ คือ คือชนิดของสเต็มเซลล์ ที่มาจากอสุจิและไข่ หรือสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic stem cells, ES cells) ที่สามารถหาข้อมูลโฆษณาได้ในอินเตอร์เน็ต ซึ่งสเต็มเซลล์กลุ่มนี้ไม่สามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้ เพราะว่าผิดจริยธรรม เป็นสเต็มเซลล์ที่เกิดจากตัวอ่อนทารกจริงๆ เป็นสิ่งมีชีวิต ถ้าเรานำมาใช้จะทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นตาย

อย่างที่สองคือ สเต็มเซลล์ที่มาจากเอ็มบริโอนี่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ คือร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ท้ายสุดจะเกิดมะเร็งชนิดเทอรามา ดังเช่นข่าวที่อาจจะเคยได้ยินว่ามีการพบก้อนเนื้อเยื่อในช่องท้องที่มีฟัน กระดูกหรือผมอยู่ในก้อนเดียวกัน

สเต็มเซลล์ที่ปลอดภัยที่สุดเป็นอย่างไร?

ดังนั้นสเต็มเซลล์ที่ปลอดภัยที่สุดคือสเต็มเซลล์ท่่จัดเก็บจากตัวของคนไข้เอง ไม่ต้องกังวลเรื่องการปนเปื้อนเชื้อโรคติดต่อต่างๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องความเข้ากันไม่ได้ของเนื้อเยื่อ เพราะปัญหาความเข้ากันไม่ได้ของเนื้อเยื่อมันมีโทษเยอะมาก เกิดการสร้างภูมิต้านทาน ซึ่งภูมิต้านทานนี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงหากได้รับเนื้อเยื่อที่มีปฏิกิริยากับภูมิที่สร้างซึ่งถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดร.นพ.ศุภชัย กล่าวด้วยว่า การให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ที่เป็นข้อเท็จจริง สามารถเผยแพร่ให้ทุกคนได้รับทราบว่า ในชีวิตเรามีทางเลือกการรักษาได้อย่างไร ใครจะเป็นคนฟังธงว่า สิทธิการรักษานี้ควรจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ เพราะมันเป็นปัจจัยที่เราควรคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยมากที่สุด คือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจในการรักษาด้วยตัวเขาเองได้ จึงแนะนำว่า คนที่สนใจจริงๆ ต้องปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้องที่เชี่ยวชาญ และต้องศึกษาว่า เขามีความรู้จริงแค่ไหน มีข้อมูล ผลงานวิจัยเป็นอย่างไร ผลการรักษา ผลดี-ผลเสียเป็นอย่างไร จึงต้องสอบถามกับคนที่แนะนำว่าข้อดี และโทษของสเต็มเซลล์เป็นอย่างไร ที่ผ่านมาส่วนตัวแล้วตนเองพยายามทำคลิปให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สเต็มเซลล์ ซึ่งจะเอางานวิจัยมาอ่านว่าสเต็มเซลล์มีประโยชน์ต่อโรคนี้อย่างไร

“สุดท้ายสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนทั่วไป คือ เราจะต้องรู้ว่าสเต็มเซลล์เป็นเซลล์มีชีวิต เพราะฉะนั้นมันไม่สามารถนำใส่กล่องมาวางขายได้ หรือไปเลือกใช้ได้ทันทีทันใด และแหล่งที่มามีความสำคัญ ถ้าเราไม่ใช้สเต็มเซลล์ที่ไม่รู้แหล่งที่มาอาจจะได้รับโทษโดยที่เราไม่รู้ เพราะสเต็มเซลล์ที่ไม่รู้ที่มาและการจัดเก็บที่ไม่ได้มาตรฐานจะเป็นปัญหาในระยะยาวที่ซ่อนอยู่ เนื้อเยื่อที่เข้ากันไม่ได้อาจจะเกิดปัญหาในตอนที่เราอายุมากขึ้นก็ได้ เมื่อเราต้องได้รับการรักษาที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบของเลือด ผลิตภัณฑ์เซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ”

สุดท้าย ดร.นพ.ศุภชัย ได้ฝากถึงผู้มีอำนาจต่างๆ ให้พิจารณาในเรื่องสเต็มเซลล์ เพราะในปัจจุบันในวงกว้างเรายังไม่มีการควบคุมการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่มีหน่วยงานใดเลยทั้งโรงเรียนแพทย์หรือฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขที่จะลงมาดูอย่างจริงจังว่าข้อมูลที่ประชาชนได้รับในปัจจุบันนี้มันเป็นข้อมูลที่ผิดไปเยอะแค่ไหน หรืออาจจะเป็นความจริงที่ปกปิดไม่บอกส่วนที่มีโทษ ตรงนี้จะทำให้ประชาชนทั่วไปมีความเชื่อที่ผิดๆ ไม่ถูกต้อง ในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อสังคม ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมในวงกว้าง

 

You can share this post!