กสิกรไทย เผยแผนปี 68 พร้อมเดินหน้าทุ่มงบ 10% ของกำไร เพิ่ม Productivity ผ่านการนำเทคโนโลยี และ AI เข้ามาใช้ช่วยขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าศักยภาพ แต่ยังเข้มการปล่อยสินเชื่อ ทั้งเดินหน้าสร้าง ROE เพิ่มขึ้นเป็นระดับตัวเลข 2 หลัก ภายในปี 69 ผ่านกลยุทธ์ 3+1 คาดการณ์ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.4% หวั่นนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์”เรื่องมาตรการภาษีจะกระทบต่อภาคธุรกิจไทย คาดการณ์ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปี 68 ไม่ต่างจากปี 67
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2568 ธนาคารมุ่งมั่นในการเพิ่ม Productivity ของธนาคารให้มากขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยี และ AI เข้ามาใช้ ซึ่งเพิ่งมีการเริ่มใช้ในการนำเข้ามาในการทำงานของธนาคาร ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเดิมของธนาคาร แต่ธนาคารก็ยังคงมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อด้วยเช่นกัน เพื่อควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและบริหารจัดการได้ และในปี 2568 ธนาคารยังวางงบลงทุน 10% ของกำไรสุทธิ ไว้รองรับการลงทุนในเทคโนโนยี นวัตกรรม และ AI ที่การทำงานต่างๆของธนาคารจะมีการนำมาใช้ และคาดว่าผลจากการลงทุนในเทคโนโลยีของธนาคารจะเห็นผลชัดเจนใน 2-3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีความตั้งใจในการยกระดับอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยให้ก้าวขึ้นไปทัดเทียมกับระดับสากล จากการที่ต้องเพิ่ม Return on Equity (ROE) ให้เป็น Double digits ภายในปี 2569 เพราะหลายๆธนาคารในต่างประเทศมี ROE เป็น Double digits กันจำนวนมาก แต่ธนาคารพาณิชย์ในไทยเองยังไปไม่ถึงระดับดังกล่าว จากปัญหาด้านรายได้ และค่าใช้จ่าย ทำให้ ROE ของธนาคารพาณิชย์ไทยยังอยู่เพียง Single digit ส่งผลให้ธนาคารกสิกรไทยต้องการที่จะผลักดันในเรื่องดังกล่าว เพื่อก้าวขึ้นสู่ธนาคารพาณิชย์ในระดับสากล
ทั้งนี้ธนาคารยังคงเดินหน้าในการสร้างอัตราผลตอบแทนของส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นเป็นระดับตัวเลข 2 หลัก (Double digits) ภายในปี 2569 ผ่านกลยุทธ์ 3+1 ของธนาคารกสิกรไทยที่ได้ตั้งไว้ ท่ามกลางความท้าทายของปี 2568 ที่มีความท้าทายหลายด้านที่เข้ามา โดยเฉพาะแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งทางธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.4% ในปี 2568 โดยการที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตในระดับที่ค่อนข้างต่ำมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง และยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้น้อยกว่าศักยภาพ
ขณะเดียวกันนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ยังมีความไม่แน่นอน และมีความกังวลในเรื่องของมาตรการภาษีที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจไทยที่ส่งออก จากการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเกินดุลการค้าสหรัฐ หากมีมาตรการภาษีเข้ามาจะกระทบต่อการส่งออกของไทยบ้าง แต่ก็ชดเชยได้บ้างด้วยการขึ้นราคาขาย และอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีไทย คือ การที่มีสินค้าจีนเข้ามาขายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายแบบเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า ทำให้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของไทยเอง และเป็นปัญหาที่จะต้องมีการแก้ไขและหาแนวทางในการป้องกัน เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจของไทยให้อยู่รอดได้
โดยที่ธนาคารกสิกรไทยยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปได้ โดยที่ธนาคารพยายามหาแนวทาง และเข้าไปช่วยเหลือให้กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจไปต่อได้ โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยในการหาตลาดใหม่ให้ หรือการส่งสินค้าไปประเทศที่ไม่เคยเข้าไปขาย รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้
"ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย หากเรายังเป็นเศรษฐกิจยุคเก่า เราก็คงสู้เขาไม่ได้ แต่ระยะสั้นคงยังแก้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราต้องช่วยเขาหาตลาดใหม่ เพราะถ้าขายตลาดเดิมก็ยังเจอคู่แข่งเยอะ ไปที่ประเทศอื่นๆที่เขายังไม่เคยไป และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังใช้ได้อยู่" นางสาวขัตติยา กล่าว
สำหรับการรุกเข้าไปในกลุ่มลูกค้าระดับฐานราก ที่ยังไม่มีความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารเคยเข้าไปแล้ว และยอมรับว่ามีการเจ็บตัว ทำให้ธนาคารเกิดความไม่มั่นใจขึ้นในการรุกขยายฐานลูกค้าดังกล่าว โดยที่ธนาคารอยู่ระหว่างการเริ่มใช้ระบบที่นำ Data และ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงาน การพิจารณาสินเชื่อ และการทำงานในด้านอื่นๆ ทำให้ธนาคารสามารถดำเนินงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"Segment ที่ Virtual Bank เขาตั้งใจ เป็น Segment ที่เราไม่ได้อยากไปแต่แรก ฉะนั้นลูกค้าแทบจะไม่ชนกัน และเราเองก็ไม่ได้รู้จักเขา ไม่มีข้อมูลมาก อย่างเช่น กลุ่มที่เราเข้าไปรายได้เป็นเดือน แต่กลุ่ม Virtual Bank รายได้เป็นวัน แบบนี้เราเองก็ยังไม่เคยมีข้อมูลไปก่อน ทำให้เราไม่ได้เข้าไปจับกลุ่มนี้" นางสาวขัตติยา กล่าวในที่สุด
นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK กล่าวถึง ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ในปี 2568 ว่าไม่ต่างจากปี 2567 โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ได้รับผลกระทบไปแล้ว อีกทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันก็ค่อนข้างโอเวอร์ซัพพลาย โดยภาพรวมความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้าที่ออกมาให้เลือกมีไม่มาก ผู้ประกอบการยังเน้นระบายสต๊อกเก่า และเน้นเปิดแต่บ้านแนวราบเป็นหลัก ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียม จะเน้นเปิดในทำเลรอบนอกใจกลางกรุงเทพฯ เช่น เจริญนคร เป็นต้น ประกอบกับผู้ประกอบการเองก็ต้องให้ความสำคัญกับสภาพคล่องทางการเงินด้วย เพราะการเปิดโครงการใหม่แต่ละครั้งต้องใช้เงินลงทุนสูง รวมถึงเปิดโครงการไปแล้ว ตลาดจะต้องรับหรือไม่ด้วย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมใจกลางกรุงเทพฯ เจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง กับต่างชาติที่ทำงานในไทย (Expat) ซึ่งปัจจุบันน้อยลงไปมากแล้ว ส่วนโครงการบ้านแนวราบ ตลาดบนยังมีความต้องการอีกมาก ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย
“ปีหน้าหวังว่าจะมีข่าวดีบ้าง เช่น จีดีพีโตได้เกิน 3% ก็ถือเป็นข่าวดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาจริงจัง เป็นต้น” นายรุ่งเรือง กล่าว
สำหรับฐานลูกค้าสินเชื่อบ้าน ในปี 2567 ที่ผ่านมา ไม่ค่อยใหญ่มากนัก คาดว่ายอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่จะปิดปี 2567 ที่ 70,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 10% และสินเชื่อคงค้างทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 4.2 แสนล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 10%เศษ โดยอยู่ในอันดับ 4 และยอดสินเชื่อต่อรายเฉลี่ยที่ 3-4 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกสิกรไทยเน้นปล่อยกู้ที่อยู่อาศัยในตลาดกลาง-บนเป็นหลัก
“เรายังปล่อยเหมือนเดิม แต่ปัญหาคือด้วยภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ดังนั้นเวลาที่ตลาดเป็นแบบนี้ ผู้เล่นทุกคนก็ระมัดระวังในการคำนวณรายได้ของลูกค้า เช่น เดิมสถาบันการเงินกำหนดให้ DSR ไม่เกิน 80% หรือมีรายได้ 100 บาท ชำระหนี้ 80 บาท แต่ด้วยภาระหนี้ครัวเรือนเดิมที่ค้างในระดับสูง ดังนั้นการอนุมัติสินเชื่อใหม่ก็เหลือวงเงินกู้ที่น้อยลง” นายรุ่งเรือง กล่าวในที่สุด