เงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.39 บาท/ดอลลาร์ "อ่อนค่าลง" กรุงไทย มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์ ติดตามดัชนี PMIเดือนธันวาคมของสหรัฐ และถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.39 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.24 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้าน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางบรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์อยู่ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนี S&P PMI ภาคการผลิต ต่างก็ออกมาดีกว่าคาด อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้มากกว่า เฟด พอสมควร ทำให้ธีม US Exceptionalism ยังคงหนุนเงินดอลลาร์อยู่ พร้อมกดดันให้บรรดาสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงเกือบ -1% ในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถกลับมาแกว่งตัวแถวโซน 2,660 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้โดยรวมเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จนทะลุโซนแนวต้านถัดไป 34.50 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ โดย ISM (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนธันวาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด (Thomas Barkin) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มมีกำลังมากขึ้น ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน อย่างที่เราเคยประเมินไว้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม (ซึ่งต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดลงบ้าง) อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า หากประเมินด้วย ตามกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงจนทะลุโซนแนวต้าน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน ทั้งนี้ โซนแนวรับของเงินบาทก็อาจขยับสูงขึ้นบ้างสู่ช่วง 34.20 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงระยะสั้นนี้ การที่เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงหนัก ส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำด้วยเช่นกัน ซึ่งหากราคาทองคำเริ่มย่อตัวลงและกลับเข้าสู่ช่วงการปรับฐานอีกครั้ง ก็อาจกลับมาเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินดอลลาร์ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า การปรับตัวขึ้นต่อของเงินดอลลาร์ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดและมีโอกาสที่จะเห็นการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ได้ หากประเมินจากปัจจัยเชิงเทคนิคัล ที่ยังคงเห็นสัญญาณลักษณะ Bearish Divergence บนดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) พร้อมกับการเกิดภาพ Bullish Divergence บนสกุลเงินหลัก อย่าง เงินยูโร (EUR) ทว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าได้บ้าง จริงหรือไม่นั้น อาจต้องรอลุ้นรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต ของสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยหากดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต ออกมาตามคาด หรือ แย่กว่าคาด ก็อาจช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ และข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.50 บาท/ดอลลาร์