เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานสัมมนา TCA Talk: การเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนงานอาคาร ณ โรงแรมโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ถนนวิทยุ โดยมุ่งเป้าให้งานสัมมนาครั้งนี้ เป็นเวทีให้ผู้ประกอบการก่อสร้างได้แสดงความคิดเห็นและสะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการต่อกระบวนการขึ้นทะเบียน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้างงานอาคารภาครัฐ ตลอดจนข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและระบบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้าง กรมบัญชีกลาง รวมถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนสาขางานก่อสร้างอาคาร ได้แก่
1. นายธนะโชค รุ่งธิปานนท์ ผู้อำนวยการกองระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและราคากลางกรมบัญชีกลาง
2. นางสาวลลิตภัทร พุ่มพฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานทะเบียนและประเมินผลผู้ประกอบการ กองระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและราคากลาง กรมบัญชีกลาง
3. นายศรันย์ โรจน์เลิศจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
4. นางสาวพันทิพย์ จันทร์เจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีแอนด์เจ เอ็นจิเนียริ่ง 2019 จำกัด
5. นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข อุปนายก สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ดำเนินรายการ)
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การมีระบบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ จึงเปรียบเสมือนการวางรากฐานที่มั่นคงเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในระยะยาว โดยในนามสมาคมฯ ได้เป็นผู้แทนภาคเอกชนร่วมหารือกับกรมบัญชีกลางหลายครั้ง ถึงหลักเกณฑ์, ข้อจำกัดของผู้ประกอบการ และความเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งทางกรมบัญชีกลางได้นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา จนปัจจุบัน กรมบัญชีกลางได้ประกาศหลักเกณฑ์การจัดชั้นและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ สาขางานก่อสร้างอาคารขึ้นอย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าหลักเกณฑ์ฉบับนี้อาจยังมีความยากในทางปฏิบัติ ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ โดยเฉพาะประเด็นส่วนของเจ้าของและบุคลากร ทั้งนี้ สมาคมฯ จะได้ยื่นปัญหาพร้อมรายชื่อบริษัทที่ประสบปัญหาเดียวกันไปยังกรมบัญชีกลางอีกครั้ง และขอเสนอความเห็นว่าควรมีการประเมินผลจำนวนผู้ยื่นขึ้นทะเบียนในระยะแรก ถ้ามีจำนวนน้อยรายจะต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อแก้ไขให้มีความถูกต้องมากขึ้น
นายศรันย์ โรจน์เลิศจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นแอล ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้างงานอาคาร คือสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม มีหลักเกณฑ์เพื่อประเมินศักยภาพเบื้องต้นของผู้ประกอบการให้เกิดการแข่งขันอย่างเหมาะสม ไม่เปิดกว้างจนเกิดความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะรับงานที่เกินศักยภาพหรือละทิ้งงาน แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถสะสมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อขอเลื่อนชั้นได้ ดังนั้นเป้าหมายสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะทำให้การขึ้นทะเบียนนี้สามารถส่งเสริมการยกระดับผู้ประกอบการก่อสร้างได้ ทั้งนี้ นอกจากประเด็นปัญหาเรื่องส่วนของเจ้าของและบุคลากรที่ผู้ประกอบการหลายบริษัทมีความกังวลแล้ว โดยส่วนตัวยังมีความเห็นในประเด็นการเขียนเงื่อนไขพิเศษใน TOR เพื่อกีดกันการเสนอราคา ขอให้หน่วยงานมีการใช้เงื่อนไขนี้ด้วยความระมัดระวัง รวมถึงประเด็นการตรวจสอบด้านผลงาน 1 โครงการใน 1 สัญญา ก็ควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาผลงานที่นำมาใช้ประกอบการขอขึ้นทะเบียนด้วย
นายธนะโชค รุ่งธิปานนท์ ผู้อำนวยการกองระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและราคากลาง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ด้วยประเภทของงานอาคารมีความหลากหลายและมีการใช้ในหลายหน่วยงานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเพื่อยกระดับมาตรฐานงานอาคาร และส่งเสริมเรื่องคุณภาพ การควบคุมงาน และการบริหารระยะเวลาการก่อสร้าง โดยหลักเกณฑ์ฉบับนี้ได้ผ่านการบูรณาการความคิดเห็นจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งความคาดหวังของกรมบัญชีกลางคือมุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ผู้ประกอบการสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้ ทั้งนี้ งานอาคารถือเป็นสาขาแรกที่จะกำหนดว่า งานประเภทใดจึงจะมีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษหรือเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ โดยจะออกเป็นหนังสือเวียนให้หน่วยงานถือปฏิบัติต่อไป อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลางน้อมรับทุกคำแนะนำ และขอขอบคุณสมาคมฯ ที่เป็นตัวกลางที่ดีในการสะท้อนความคิดเห็นว่าหลักเกณฑ์ที่ดีควรเป็นเช่นไร โดยกรมบัญชีกลางยึดถือที่เป้าหมายเป็นหลัก คือการได้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาในระบบการทำงาน และไม่อยากตัดใครทิ้งโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ได้จากผู้ประกอบการก่อสร้างที่เข้าร่วมงานสัมมนาที่ต้องการให้กรมบัญชีกลางพิจารณาปรับแก้หลักเกณฑ์ให้มีการผ่อนปรนต่อผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง ได้แก่
1) ความเดือดร้อนของผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่สามารถหาบุคลากรได้ตามเกณฑ์
2) การกำหนดผลงานของบริษัทในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture)
3) การลดขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารด้านผลงานย้อนหลัง 10 ปี
4) แนวทางการอาศัยกลไกการขึ้นทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาละทิ้งงานอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะได้นำเสนอต่อกรมบัญชีกลางต่อไป