Krungthai GLOBAL MARKETS อัพเดทค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ที่ระดับ 34.57 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์ ติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.57 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.48 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.41-34.58 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าในช่วงแรกเงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ทว่า การแข็งค่าดังกล่าวของเงินบาทก็อยู่ได้ไม่นาน หลังเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล้วนออกมาดีกว่าคาด ทั้ง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.098 ล้านตำแหน่ง ส่วนดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.1 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด สะท้อนภาวะขยายตัว) ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ไม่ถึง 2 ครั้ง ตามที่ได้ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด (โอกาสลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ลดลง เหลือราว 50%) นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมให้กับเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งจะมีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ อย่าง ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ในเดือนธันวาคม ที่อาจพอใช้ประกอบการประเมิน ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ซึ่งจะรายงานในวันศุกร์นี้ได้ รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึง รายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ที่ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 50% ในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้างในญี่ปุ่น ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 6.30 น. ตามเวลาประเทศไทยของวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม นี้ โดยหากอัตราการเติบโตของค่าจ้างยังคงสอดคล้องกับคาดการณ์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็อาจเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เล่นในตลาดว่า BOJ ยังมีโอกาสทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า BOJ มีโอกาสราว 89% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงวันก่อนหน้า เงินบาทจะมีจังหวะแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เราประเมินไว้ ตามอานิสงส์ของแรงซื้อหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติและแรงขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออกบางส่วน ทว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะทยอยอ่อนค่าลงบ้าง หลังโมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์มีกำลังมากขึ้นอีกครั้ง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดในคืนที่ผ่านมา ทำให้เราคงมุมมองเดิมก่อนว่า เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะทยอยอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 34.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านสำคัญถัดไป 35.00 บาทต่อดอลลาร์) ได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าถึงโซนดังกล่าวได้หรือไม่นั้น อาจจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ และรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ ราว 2.00 น. ตามเวลาประเทศไทย
โดยในกรณีที่ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ล้วนออกมาดีกว่าคาด อีกทั้ง รายงานการประชุม FOMC ของเฟดล่าสุด ก็สะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อ จากความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ก็อาจยิ่งหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ตามการปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง ในปีนี้
อย่างไรก็ดี หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน โดยยอดการจ้างงานภาคเอกชนออกมาแย่กว่าคาด แม้ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานอาจทรงตัวใกล้เคียงเดิม หรือดีกว่าคาม และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในรายงานการประชุม FOMC เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจมีความกังวลมากขึ้นว่า รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ อาจเห็นการชะลอตัวลงมากขึ้นของการจ้างงานได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เสี่ยงย่อตัวลง
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่ในช่วงนี้ อาจกลับมาซื้อหุ้นไทยได้บ้าง แต่ยังคงเดินหน้าขายบอนด์ไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน แนวโน้มราคาทองคำและราคาน้ำมันดิบก็ยังคงมีผลกับการเคลื่อนไหวของเงินบาท นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้ส่งออกบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าในการทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปได้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.70 บาท/ดอลลาร์