กรุงไทย อัพเดทค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 34.55 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง" คาด ในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.80 บาท/ดอลลาร์ แนะระวังความผันผวนช่วงรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.55 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.60 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.54-34.64 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่เข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถวโซน 2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงค่ำวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย (โดยเฉพาะ Michelle Bowman และ Jeffrey Schmid) ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็มีส่วนหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันค่าเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงคืนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันบ้าง จากแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนหลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นกว่า +1.2% ในช่วงคืนที่ผ่านมา ทำให้เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมน้ำมันดิบได้
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 72% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทจะเผชิญความผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility ซึ่งอาจชี้ชะตาแนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะถัดไปได้ โดยจะขึ้นกับการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ ซึ่งจะเริ่มในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยในกรณีที่ เงินบาททยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริง ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ สอดคล้องกับสัญญาณจากกลยุทธ์ Trend-Following ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้า แต่หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลุดโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน ก็อาจทำให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาท (USDTHB) จะกลับมาแกว่งตัวในลักษณะ Sideways หรือมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down ได้
ในช่วงระหว่างวันนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจยังเป็นการทยอยขายสุทธิสินทรัพย์ไทยได้ ทั้งนี้ เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม หรือยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่านั้น จะขึ้นกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำด้วยเช่นกัน หลังราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านระยะสั้น ทำให้ราคาทองคำก็เสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ด้วยเช่นกัน โดยเรามองว่า ราคาทองคำอาจมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ในกรณีที่ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาตามคาด หรือแย่กว่าคาดเล็กน้อย เช่น ยอดการจ้างงานฯ เพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ถึง 1.6 แสนตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวแถว 4.2% หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 4.3% เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพิ่มเติมบ้าง จากราว 72% ล่าสุด เป็น มากกว่า 80% ได้ กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจย่อตัวลงบ้าง หนุนทั้งราคาทองคำและค่าเงินบาท ทว่าเงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก โดยอาจะยังติดโซน 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์
แต่หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน เช่น ยอดการจ้างงานฯ เพิ่มขึ้น เกิน 2.5 แสนตำแหน่ง อย่างที่นักวิเคราะห์ของทาง Bloomberg Economics ประเมินไว้ ส่วนอัตราการว่างงานอาจทรงตัว หรือ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลมากขึ้น ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้ง ที่ระบุไว้ใน Dot Plot ตามภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยอาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทดสอบโซนแนวต้าน 4.75% ได้ไม่ยาก กดดันราคาทองคำและค่าเงินบาทได้พอสมควร โดยในกรณีนี้ อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.75-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.80 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)