news-details
Business

BBLชวนอาเซียนผนึกกำลังคว้าทุกโอกาสการค้า-ลงทุนเติบโตไปด้วยกัน จับตาประเด็น “ความขัดแย้ง-ความยั่งยืน-GenAI” ความท้าทายเศรษฐกิจปีงูเล็ก

ธนาคารกรุงเทพ ชวนอาเซียนผนึกกำลังความร่วมมือตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ระดับโลก ตอบรับปัจจัยท้าทายที่จะเกิดขึ้นในยุคดิจิทัล พร้อมผลักดันให้กลายเป็นภูมิภาคสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก สร้างยุคความเปลี่ยนแปลงให้เป็นยุคแห่งโอกาสเติบโต แนะจับตา 3 โจทย์ใหญ่ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์-โลกร้อนและความยั่งยืน-GenAI เป็นความท้าทายเศรษฐกิจปีงูเล็ก พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายความรู้แก่ลูกค้า ด้วยประสบการณ์ที่แข็งแกร่งในฐานะ “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” พาลูกค้าเติบโตอย่างยั่งยืน

 

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยในโอกาสเปิดงานสัมมนา AEC Business Forum 2025 ซึ่งธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” จัดขึ้นในหัวข้อ ASEAN in the Age of Disruption ว่า อาเซียนจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลก เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับความท้าทายและโอกาสในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในอาเซียนเองที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง จึงมีความต้องการมากขึ้นที่จะบริโภคสินค้าและบริการ การศึกษา การดูแลสุขภาพ และการท่องเที่ยว รวมทั้งควรสนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้คนทั้งในด้านการศึกษา และการค้าทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ อาเซียนกำลังเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุน และยกระดับการขนส่งข้ามเขตเศรษฐกิจ เสริมศักยภาพของภูมิภาคให้กลายเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของโลก

“เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ กับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และอีกโครงการเพื่อเชื่อมประเทศไทยกับลาว และจีน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมสีเขียว รถยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ที่ผลักดันคำขอส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในปีที่ผ่านมาให้สูงสุดในรอบ 10 ปี ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้น อาเซียนต้องพร้อมเปลี่ยนความท้าทายของยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ให้กลายเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตให้ได้” นายชาติศิริ กล่าว

นายชาติศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประเด็นเกี่ยวกับอาเซียนเองแล้ว โลกยังกำลังเผชิญกับปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอีกหลายมิติ นำโดยประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง รวมถึงนโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดำเนินนโยบายการค้าแบบ “American First” ด้วยการนำการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ และการเพิ่มภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตและลดการเชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์ (De-globalization) เร่งตัวขึ้นในช่วง 5 ปีล่าสุดนี้ การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ กฎระเบียบด้าน ESG ที่เข้มงวดขึ้น และความจำเป็นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดอนาคตและทิศทางขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดังที่เห็นในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาน้ำท่วมรุนแรงหลายครั้ง โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน บ้านเรือน ทรัพย์สิน และธุรกิจในวงกว้าง เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและวิถีชีวิตอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ประเทศไทยและอีกหลายประเทศในอาเซียน ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero ซึ่งมาพร้อมกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ที่เข้มงวดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องอาศัยเงินลงทุนอีกมหาศาลเพื่อปรับปรุงปัจจัยต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบเหล่านี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสังคมโลกไปสู่ความยั่งยืนที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในอีกหลายแง่มุม เช่นการบริโภคพลังงาน สินค้า และบริการ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นสำคัญ

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่จะเร่งตัวขึ้นจากการนำ Generative AI ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและธุรกิจในหลายมิติ รวมถึงความคาดหวังของลูกค้าและพนักงานในด้านวิถีชีวิต การทำงาน การบริโภค ทั้งยังเพิ่มความท้าทายในตลาดแรงงานระดับโลกที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้น มนุษย์ต้องทำงานอย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้นเพื่อดึงประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

“แม้โลกธุรกิจสำหรับอาเซียนในวันนี้จะเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย แต่กระนั้นภูมิภาคเราก็ยังมีข้อได้เปรียบสำคัญหลายเรื่อง ทั้งทำเลที่ตั้งในเชิงกลยุทธ์ ทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะ ต้นทุนแรงงานที่แข่งขันได้ ตลาดที่มีความหลากหลาย และภาคการผลิตที่แข็งแกร่งมาก นอกจากนี้ อาเซียนเองก็กำลังก้าวไปข้างหน้าเพื่อกำหนดบทบาทของตนเองในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ได้กลายเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของกลุ่ม BRICS ในวันที่ 1 มกราคม 2568 และหลังจากนั้น อินโดนีเซียก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเต็มรูปแบบ ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้อาเซียนยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่ต้องการลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการกระจายห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย” นายชาติศิริ กล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 7 ของภูมิภาคอาเซียน และเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์รวม มีความมุ่งมั่นที่จะเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ผ่านการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและครบวงจร ผ่านเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงมีเครือข่ายสาขาในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด จำนวน 25 แห่ง ครอบคลุม 13 เขตเศรษฐกิจสำคัญ และสาขาธนาคารเพอร์มาตาประมาณ 200 แห่งในอินโดนีเซีย รวมถึงบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาธุรกิจอย่างแข็งแกร่ง ตอกย้ำความเป็น “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” ของธนาคารกรุงเทพ ที่ช่วยตอบโจทย์และก้าวเดินเคียงข้างลูกค้าให้เติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

งานสัมมนา AEC Business Forum 2025: “ASEAN in the Age of Disruption-ความท้าทายของอาเซียนในยุคโลกป่วน” ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 6  ที่ธนาคารจัดเวทีสำหรับผู้นำธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชั้นนำต่างๆ และนักธุรกิจชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) มาแสดงวิสัยทัศน์และร่วมเสวนาแบ่งปันความรู้ อัปเดตข้อมูลเชิงลึกที่ถือว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับธุรกิจในยุคปัจจุบัน รวมถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการเสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน นำมาซึ่งโอกาสการค้าการลงทุนที่สำคัญภายในตลาดอาเซียน ตอกย้ำบทบาทธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค” ที่ยืนหยัดมุ่งมั่นเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” เติบโตเคียงข้างลูกค้าในทุกระดับ ประชาชน และประเทศชาติ มากว่า 80 ปี

 

You can share this post!