news-details
Business

เงินบาท "อ่อนค่า"เปิดเช้านี้ 33.91 บาท/ดอลลาร์ เกาะติดนโยบาย Trump 2.0

ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ 33.91 บาท/ดอลลาร์ "อ่อนค่าลง" กรุงไทย มองกรอบในช่วง 24 ชั่วโมง คาดจะอยู่ที่ 33.75-34.10 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.91 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.80 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.78-33.92 บาท/ดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ตอบรับแนวโน้มโครงการลงทุนใน AI (Stargate Project) ของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงบ้างของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลว่า สหภาพยุโรปอาจเสี่ยงเผชิญการขึ้นภาษีนำเข้าจากรัฐบาล Trump 2.0 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 156.50 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติม หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ย่อตัวลงบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างใกล้ชิด พร้อมรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนธันวาคม (ทยอยรับรู้ในช่วง 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย) รวมถึงรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนมกราคม (ทยอยรับรู้ในช่วง 7.30 น.) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะรู้ผลการประชุม BOJ ในวันศุกร์นี้ด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า BOJ มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมกราคมนี้ และทั้งปี อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง หรือ 50bps

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงบ้าง แต่เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์

เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง Jobless Claims ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่นในช่วงเช้าของวันศุกร์นี้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.10 บาท/ดอลลาร์

You can share this post!