“เวิ้งนาครเขษม” ถือเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของชุมชนชาวจีนที่มีปูมประวัติยาวนานมาตั้งแต่ครั้งที่รัชกาลที่ 5 ที่ได้พระราชทานที่ดินย่านดังกล่าวให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนคร สวรรค์วรพินิต เป็นผู้จัดการดูแล โดยทรงเห็นว่าบริเวณวังน้ำทิพย์มีชุมชนเกิดขึ้นแล้ว จึงได้ถมดินให้เป็นที่โล่งกว้างใหญ่ตั้งชื่อว่า เวิ้งนาครเขษม ซึ่งหมายถึงเวิ้งอันเป็นที่รื่นรมย์ของชาวเมือง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานบริพัตรเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้กับ 5 ตระกูลใหญ่ คือ กิติยากร,สวัสดิวัตน์ ,เทวกุล , โสณกุล และบุณยะปานะ ทายาทของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตฯ ซึ่งทำเลดังกล่าวมีชื่อเสียงเป็นศูนย์รวมของเครื่องดนตรี เครื่องครัว เครื่องทองเหลือง และของโบราณ
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ที่ดินย่านเขตเมืองเก่ากลายเป็นขุมทองด้านการค้าสมัยใหม่ที่มีรถไฟฟ้าเป็นตัวนำความเปลี่ยนแปลง เวิ้งนาครเขษมก็หลีกหนีไม่พ้นระบบทุนนิยมที่แพร่กระจายไปได้ทุกที่อย่างรวดเร็ว และต่อมาสำนักงานบริพัตรตัดสินใจไม่ต่ออายุให้กับผู้เช่าทั้งหมดเมื่อเดือนกันยายน 2555 และประกาศประมูลขายที่ดินเวิ้งนาครเขษมจำนวน 14 ไร่เศษ ด้วยราคาเริ่มที่ 3,800 ล้านบาท ท่ามกลางการต่อต้านของชาวชุมชนที่อยู่กินบนที่ดินผืนนี้มาหลายชั่วอายุคน จนนำไปสู่การรวมกลุ่มตั้งบริษัท เวิ้งนาครเขษม เพื่อระดมซื้อที่ดินเอาไว้เอง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวถือว่าไปทำเลทองจึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มทุนใหญ่ตระกูลดังเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงถึง 5,500 ล้านบาท ในที่สุดกลุ่มอักษรา เจ้าของธุรกิจไอที และอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้ชนะการประมูล เฉือนกลุ่มช่อง 3 ของตระกูล “มาลีนนท์”ที่เสนอราคาที่ 5,300 ล้านบาท ไปอย่างหวุดหวิด
แต่สุดท้ายกลุ่มอักษราได้ถอนตัวไป ทำให้สำนักงานบริพัตรได้นำที่ดินมาเปิดประมูลใหม่ในราคา 4,800 ล้านบาท จนที่สุด ”กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี“ ก็ได้สามารถเป็นผู้ได้สิทธิในที่ดินเวิ้งนาครเขษม ในนามบริษัท ทีซีซี แลนด์ จำกัด (ในขณะนั้น)ไปด้วยราคาขายสุทธิ 5,000 ล้านบาท แต่ราคาที่มีการแจ้งโอนนั้น มีการแจ้งว่าเป็นราคาที่ 4,507 ล้านบาท และค่าโอนกว่า 300 ล้านบาท โดยได้ทำการโอนเปลี่ยนมาอยู่ในมือกลุ่มเจ้าสัวเจริญเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา
โดยแผนการพัฒนาโครงการได้ล่าช้าไปหลายปี กว่าที่ผู้เช่าชุดสุดท้ายจะย้ายออกจากพื้นที่ เวลาก็ล่วงมาถึงปี 2559 จนกระทั่งในปี 2564 ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์อีกครั้ง เมื่อบริษัท แอสเสทเวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC ได้เข้าลงทุนในโครงการ “เวิ้งนาครเขษม”โดยซื้อหุ้นสามัญในบริษัท ทีซีซี เวิ้งนาครเขษม จำกัด มูลค่าในการซื้อหุ้นประมาณ 8,265 ล้านบาท
ปัจจุบันที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ได้มีการแถลงแผนการลงทุนโครงการ “เวิ้งนครเกษม เยาวราช” (Woeng Nakornkasem Yaowaraj)ออกมาอย่างชัดเจนแล้ว
โดยนางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสทเวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า “เวิ้งนาครเขษม” ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครมาอย่างยาวนาน พร้อมด้วยเสน่ห์ของไชน่าทาวน์ที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมไทย-จีน อันทรงคุณค่าการ ดังนั้นการพัฒนาโครงการ “เวิ้งนครเกษม เยาวราช”(Woeng Nakornkasem Yaowaraj)จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ระดับแฟลกชิปแห่งแรกของ AWC ที่ทุกคนรอคอย ด้วยขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดและใช้งบลงทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทฯคือกว่า 16,000 ล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่การเป็น AWC’s Lifestyle Destination ที่พร้อมสร้างสรรค์ประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ครบวงจรสำหรับทุกคน ควบคู่การอนุรักษ์เชื่อมต่อคุณค่าจากอดีตสู่แรงบันดาลใจแห่งอนาคตเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรระดับโลกอย่าง เครืออินเตอร์คอนติเนนตัลโฮเต็ลส์ กรุ๊ป (IHG Hotels & Resorts) หนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านธุรกิจโรงแรม และไทย โอบายาชิ (Thai Obayashi) บริษัทก่อสร้างชั้นนำมาตรฐานระดับโลก รวมถึงชุมชนโดยรอบโครงการที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาโครงการพร้อมเชิญชวนพันธมิตรที่สนใจร่วมสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาให้ “เวิ้งนครเกษม เยาวราช”เป็นจุดหมายปลายทางแห่งความภาคภูมิใจของชาวเยาวราชและคนไทยทุกคน พร้อมร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวยั่งยืนชั้นนำระดับโลก
โครงการ “เวิ้งนครเกษม เยาวราช” ตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ขนาด 14 ไร่ (22,400 ตารางเมตร)ใจกลางย่านเยาวราช ด้วยพื้นที่การพัฒนากว่า 135,000 ตารางเมตร ที่ได้รับการออกแบบเพื่อสะท้อนถึงมรดกทางวัฒนธรรมไทย-จีนของย่านไชน่าทาวน์ ผ่านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมและการสร้างสรรค์องค์ประกอบใหม่ที่สอดคล้องกับความทันสมัยเพื่อพลิกฟื้นมรดกแห่งเยาวราช ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่สำคัญ 3 ส่วน อาทิ
1.ศาลาจีน (Chinese Pavilion) ความสูง 8 ชั้น พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของไชน่าทาวน์ ที่ได้รับการออกแบบอย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เปิดให้ผู้คนได้เข้ามาสักการะเพื่อเสริมโชคลาภและความเป็นสิริมงคล รวมถึงพิพิธภัณฑ์เวิ้งนครเกษมที่จัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ ตลอดจนสิ่งของในวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน เสริมสร้างการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม และเพิ่มพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจในใจกลางเมือง
2.โรงแรมระดับลักชัวรี (World-Class Hospitality) แห่งแรกของไชน่าทาวน์ จำนวน 2 โรงแรม รวมห้องพักกว่า 500 ห้อง ประกอบไปด้วยโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล (InterContinental)จำนวนกว่า 300 ห้องพัก โดดเด่นด้วยอาคารหลักสูง 10 ชั้น และอาคารพาณิชย์เก่าแก่ที่ได้รับการอนุรักษ์โครงสร้างเดิมและปรับปรุงอย่างพิถีพิถันให้กลายเป็นห้องสวีทสุดหรู พร้อมด้วยการบริการอันเป็นเอกลักษณ์จากแบรนด์โรงแรมระดับโลกแห่งแรกในย่านไชน่าทาวน์ โดดเด่นด้วยห้องบอลรูมขนาดใหญ่ที่สุดในเยาวราชกว่า 1,100 ตารางเมตรที่สามารถรองรับได้ถึง 750 คน รวมถึงโรงแรมระดับลักชัวรีในเครือ IHG (Luxury Hotel) จำนวนกว่า 200 ห้องพัก บนพื้นที่อาคารหลักสูง 10 ชั้น และอาคารพาณิชย์อนุรักษ์บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง นำเสนอความสง่างามเหนือกาลเวลา ผสมผสานระหว่างประเพณีและความทันสมัยอย่างไร้ที่ติ พร้อมด้วยการบริการ รวมถึงห้องอาหารและบาร์อันโดดเด่น
3.ศูนย์การค้าระดับไอคอนิค (Iconic HeritageAnd Luxury Retail) จุดหมายปลายทางอันโดดเด่นด้านไลฟ์สไตล์สำหรับนักท่องเที่ยวและทุกครอบครัวด้วยพื้นที่รวมกว่า 68,000 ตารางเมตรภายในพื้นที่อาคารหลัก พื้นที่พลาซ่ากลางแจ้งขนาดใหญ่ใจกลางไชน่าทาวน์บริเวณอาคารพาณิชย์อนุรักษ์ที่เป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของเวิ้งนครเกษม และพื้นที่ชั้นใต้ดินในฐานะหนึ่งในพื้นที่ชอปปิ้งใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร รวบรวมร้านค้าแบรนด์เนมหรูชั้นนำ ร้านค้าคอนเซ็ปต์ใหม่ ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ คาเฟ่ และร้านค้าท้องถิ่นของชุมชนที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี เพื่อร่วมถ่ายทอดเรื่องราวและความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่การค้าไทย-จีนในอดีต เติมเต็มสีสันให้กับการชอปปิ้งด้วยการตกแต่งร่วมสมัย และพื้นที่กิจกรรมที่จะมาร่วมสร้างความสนุกตลอดปีให้กับนักเดินทางทุกวัยด้วยงานเทศกาลที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของย่านไชน่าทาวน์ ร่มรื่นด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่และสวนลอยฟ้าบริเวณฟาซาดของอาคาร พร้อมลานจอดรถชั้นใต้ดินที่สามารถรองรับได้ถึง 750 คัน
นอกจากนี้ โครงการ “เวิ้งนครเกษม เยาวราช” ยังได้รับการพัฒนาขึ้นโดยให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานอาคารสีเขียว (Green Building Standard) เพื่อผลักดันอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนโดยรอบ มุ่งสู่การรับรองมาตรฐานระดับสากล สนับสนุนการเติบโตและเศรษฐกิจของชุมชนโดยรอบ สานความสัมพันธ์อันมีความหมายระหว่างคนในชุมชนเพื่อคุณค่าองค์รวมให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ส่งเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองและการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนในโครงการ “เวิ้งนครเกษม เยาวราช” นี้ ปีแรกที่เปิดดำเนินการ (ปี 25672) คาดว่าจะมีผลตอบแทนที่ระดับ 5% และเติบโตเป็น 8%, 10% และ 15% ในอนาคต ส่วน โครงการเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ คอมเพล็กซ์ ขณะนี้ยังไม่อยู่ในแผนที่จะนำมาพิจารณาเนื่องจาก AWC มีแผนพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เป็นการสร้างมูลค่าในระยะยาว และยังมีหลายอย่างที่สามารถดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาได้ ทั้งนี้ แผนลงทุนของ AWC ในปีนี้ ยังมีการเปิดตัวโรงแรมต่อเนื่อง ในกรุงเทพฯ-พัทยา โดยในวันที่ 24 มกราคม 2568 ได้มีการเปิดให้บริการโรงแรมแห่งใหม่ที่พัทยาด้วย
“เวิ้งนครเกษม เยาวราช ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่สำคัญของย่านไชน่าทาวน์ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เข้ากับอนาคต ซึ่ง AWC มุ่งมั่นที่จะสร้างประสบการณ์อันน่าจดจำและเป็นที่ภาคภูมิใจให้กับชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พร้อมส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในชุมชนโดยรอบ โดยโครงการมีกำหนดเริ่มต้นการก่อสร้างในปี 2568 และพร้อมเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2572 ซึ่งช้าไปจากแผนเดิม ที่กำหนดจะก่อสร้างในปี 2565 และแล้วเสร็จในปี 2570” นางวัลลภา กล่าวในที่สุด