news-details
Business

“เฟรเซอร์ส”เผยตลาดอสังหาฯปีงูไฟยังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบภายใน-นอก ประกาศแผนฝ่าความผันผวน ภายใต้กลยุทธ์ “กอด” 3 มิติ ด้วยงบลงทุน 10,000 ล้านบาท

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ฯ เผยภาพรวมตลาดอสังหาฯปี 68 ยังเผชิญหน้าความท้าทายจากปัจจัยภายใน-ภายนอกประเทศ ซัปพลายยังล้นตลาด โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวลักชัวรีสวนทางกับดีมานด์ที่ลดลง ขณะที่อาคารสำนักงานยังแข่งเดือด จากซัปพลายใหม่ ส่วนคลังสินค้าให้เช่าตลาดโตต่อเนื่อง ส่งผลผู้ประกอบการแห่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด กลายเป็น Red Ocean พร้อมประกาศเปิดแผนธุรกิจปีงูเล็ก ทุ่มงบลงทุน 10,000 ล้านบาท ชูกลยุทธ์ “กอด - Secure Core, Embrace Future” กอด ลูกค้าให้มั่น จับมือกันให้แน่น โฟกัสการดำเนินงาน 3 มิติ Flexible-Feeling-Focus ขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย-อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรมเติบโตมั่นคงท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจ พร้อมดึง AI ยกระดับการทำงานไปอีกขั้น เสริมความแข็งแกร่งเป็นแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ด้วยเป้าหมายเป็น Real Estate as a Service Brand ตั้งเป้ารายได้แตะ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 11 %

 

นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 ว่า ยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์โลกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งต้องจับตาถึงสงครามการค้าที่จะสะเทือนไปทั่วโลก ด้านสถานการณ์ในประเทศ กำลังซื้อยังคงซบเซา พร้อมหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะเดียวกัน หลายสินค้าในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์อยู่ในสภาวะซัปพลายล้นตลาด อย่างบ้านเดี่ยวระดับลักชัวรีที่จำนวนซัปพลายสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับดีมานด์ที่ลดลง ขณะที่ตลาดอาคารสำนักงานมีการแข่งขันสูงจากอาคารสำนักงานเกิดใหม่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่เตรียมเปิดตัวในอนาคต รวมถึงคลังสินค้าให้เช่าที่เริ่มมีสัญญาณซัปพลายทะลัก หลังจากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการพัฒนากระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้เพิ่มขึ้นเพื่อหวังชิงส่วนแบ่งตลาด จากเดิมที่เคยเป็น Blue Ocean ก็กลายเป็น Red Ocean

ส่วนโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” ของรัฐบาลนั้น มองว่าไม่มีผลกระทบกับบริษัทฯ เพราะลูกค้าที่ซื้อโครงการประเภททาวน์เฮาส์จะเป็นอีกเกรดหนึ่ง ในขณะที่ “บ้านเพื่อคนไทย” จะเน้นกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยและคนเริ่มต้นทำงาน (First Jobber) ได้สิทธิซื้อเป็นบ้านหลังแรกมีงวดผ่อน 4,000 บาท/เดือน

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความผันผวนในไทยและต่างประเทศ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทยวางแผนอย่างระมัดระวังเพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคง โดยในปีงบการเงิน 2568 (ตุลาคม 2567 – กันยายน 2568) ตั้งเป้ารายได้ จาก 3 ธุรกิจที่ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 11 % เมื่อเทียบกับปีงบการเงิน 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) ที่ 14,566 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์ “กอด - Secure Core, Embrace Future” ซึ่งจะกอดฐานลูกค้าเดิมให้แน่น พร้อมเดินหน้าหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ผ่านการดำเนินงานใน 3 มิติ ประกอบด้วย

1.Flexible – ปรับตัวให้ยืดหยุ่นตามดีมานด์ของตลาด ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยืดหยุ่น ด้วยจุดแข็งการเป็นแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรที่มีธุรกิจที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม สามารถสร้างรายได้จากการขายและค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงมีกระแสรายได้ต่อเนื่อง อีกทั้งยังปรับรูปแบบของสินค้าและบริการให้ยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า เช่น ระยะเวลาการทำสัญญาเช่าที่เลือกได้ การพัฒนาพื้นที่แบบมัลติฟังก์ชันที่สามารถเปลี่ยนได้ตามลักษณะการใช้งาน เป็นต้น

2.Feeling – สร้างประสบการณ์ที่เหนือระดับ ส่งมอบความประทับใจให้กับลูกค้าผ่านการรังสรรค์บรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีในทุกพื้นที่การให้บริการ พร้อมด้วยการให้บริการหลังการขายอย่างจริงใจและเอาใจใส่ ผ่านการออกแบบการดูแลที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในการมัดใจและรักษาลูกค้าให้อยู่กับบริษัทในระยะยาว

3.Focus – มุ่งพัฒนาสินค้าและบริการที่เชี่ยวชาญ ใช้ Data-driven insights วิเคราะห์แนวโน้มตลาดและความต้องการลูกค้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เพื่อนำไปสู่การสร้างโซลูชันใหม่ ๆ ที่สามารถเสริมมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ และตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างทันท่วงที

 

ทั้งนี้ กลยุทธ์ “กอด - Secure Core, Embrace Future” ได้นำมาปรับใช้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้  ประเทศไทย ด้วยงบลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ล้านบาท ดังนี้

1.อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯมากที่สุด โดยในปีนี้เตรียมพลิกโฉมการพัฒนาที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ให้กับลูกค้า ทั้งดีไซน์และฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ เสริมด้วยบริการหลังการขายสุดแกร่งที่ดูแลลูกค้าตั้งแต่วันแรกทั้งก่อนและหลังเข้าอยู่ โดยมีแผนเปิด 6 โครงการใหม่ในกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา และขอนแก่น รวมมูลค่า 9,803 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าบ้านเดี่ยวระดับราคา 20 ล้านบาทในปัจจุบันเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งบ้านที่พัฒนาจะเป็นบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดระดับลักชัวรีและระดับบน  3 โครงการ ภายใต้แบรนด์ The Grand, Grandio และ แบรนด์ใหม่ Gramour พร้อมด้วยทาวน์โฮมพรีเมียม 1 โครงการในแบรนด์ใหม่ Goldina และคอนโดมิเนียมแบรนด์ KLOS อีก 1 โครงการ ขณะเดียวกัน เดินหน้าบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วยการจัดโรดโชว์ที่ประเทศจีน เจาะกลุ่มลูกค้าที่สนใจซื้อโครงการคอนโดมิเนียม จากปัจจุบันที่มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายรวม 75 โครงการ รวมมูลค่าโครงการประมาณ 120,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเหลือขายประมาณเกือบ 50,000 ล้านบาท โดยเป็นทาวน์เฮาส์ ประมาณ 30%

2.อสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม ปัจจุบันเป็นเบอร์ 1 ของตลาดโรงงาน-คลังสินค้าให้เช่าด้วยพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการ 3.66 ล้านตารางเมตร ทั้งในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยในปีนี้ตั้งเป้าขยายพื้นที่เพิ่มอีกกว่า 150,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นที่ประเทศไทยมากกว่า 100,000 ตารางเมตร ,อินโดนีเซีย 25,000 ตารางเมตร และเวียดนาม 30,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังสนใจขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทฯให้ความสนใจในขณะนี้

 

นอกจากนี้ยังสร้างอัตราการเช่ารวมของพอร์ตโฟลิโอสูงกว่า 88% หรือมากกว่า 1 ล้านตารางเมตร ซึ่งบริษัทฯไม่ต้องการเน้นเรื่องการทำสงครามราคา เหมือนเช่นผู้ประกอบการรายอื่น เพราะไม่อยากเจ็บตัว แต่จะเน้นเรื่อง 4 S มากกว่า พร้อมเดินหน้าพัฒนาอาคารอุตสาหกรรมทั้งแบบสำเร็จรูป (Ready-Built) แบบสร้างความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) และแบบสร้างตามฟังก์ชันพร้อมใช้ (Built-to-Function) ที่บริษัทเป็นเจ้าแรกของตลาดในการพัฒนาสินค้ารูปแบบนี้และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สามารถปิดดีลลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน บริษัทจะเข้าไปร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาโครงการ Industrial Township พื้นที่ 4,600 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณ ถ.บางนา -ตราด กม.32 ซึ่งเป็นที่ดินที่เมื่อปี 2561 กลุ่มบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ชนะการประมูลคว้าที่ดินแปลงใหญ่ 4,300 ไร่ จากกรมบังคับคดี ด้วยมูลค่า 8,914.07 ล้านบาท โดยมีแผนจะพัฒนาทั้งหมด 3 เฟส ซึ่งพร้อมเปิดตัวโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้

 

3.อสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม ยกระดับการให้บริการและคุณภาพอาคารสำนักงานเกรด A อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้อาคารทุกกลุ่ม ผสมผสานการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับผู้เช่า ซึ่งเป็นจุดเด่นของบริษัทที่ทำให้สามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมได้อย่างเหนียวแน่น ยิ่งกว่านั้น มีแผนดึงดูดลูกค้าต่างชาติกลุ่มใหม่ ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในไทยจากการย้ายและขยายฐานการผลิตอีกด้วย ในส่วนของพื้นที่รีเทลจะเพิ่มเติมร้านค้าที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้โภคมากขึ้น ผนวกการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สร้างประสบการณ์เหนือระดับ เพื่อปลุกสีสันตลาดและเพิ่มยอดทราฟฟิก โดยมองว่าปีนี้จะสามารถรักษาอัตราการเช่าของพอร์ตโฟลิโออสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมได้สูงกว่า 90%

นอกจากนี้ บริษัทได้นำ AI (Artificial Intelligence) และ Data Analytics เข้ามาใช้ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของธุรกิจ ทั้งการออกแบบและสร้างสรรค์โครงการ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า



รวมถึงส่วนของออฟฟิศด้านการจัดการบัญชีและการเงิน เป็นต้น ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในกระบวนการต่าง ๆ อีกทั้งยังมีโครงการ Everyday AI ที่ส่งเสริมการเรียนรู้การใช้ AI ให้กับพนักงาน เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำงานให้มีศักยภาพมากขึ้น เป็นการสร้างรากฐานองค์กรให้ก้าวสู่อนาคตได้อย่างแข็งแกร่งในยุคที่การแข่งขันสูงและการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

“ด้วยกลยุทธ์และแผนงานที่ถูกวางอย่างเข้มแข็งและรอบคอบ บริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันธุรกิจเติบโตมั่นคงท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเดินหน้าตามแผนการขับเคลื่อนเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทยสู่ Real Estate as a Service Brand ด้วยการต่อยอดนวัตกรรมการบริการ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการบริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ควบคู่กับความมุ่งมั่นในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) อันสอดคล้องกับเจตนารมณ์ขององค์กรในการสร้างสรรค์พื้นที่ ให้ประสบการณ์ที่ดีคงอยู่ (Inspiring experiences, creating places for good.)” นายธนพล กล่าวในที่สุด

 

You can share this post!