งบการเงินปี 2567 ของกลุ่มแบงก์ (9 แห่ง)[1] สะท้อนประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีทิศทางดีขึ้น 2) ระดับหนี้เสียยังบริหารจัดการได้ และ 3) ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ เริ่มทยอยลดลง (รูปที่ 1)
- รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีทิศทางดีขึ้น และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในปี 2567 (แม้รายได้หลักของกลุ่มแบงก์จะยังมาจากรายได้ดอกเบี้ยเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม) โดยสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยับขึ้นมาที่ 24.6% ของรายได้จากการดำเนินงานสุทธิในปี 2567 (จาก 8% ในปี 2566) ขณะที่สัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิชะลอลงตามภาพสินเชื่อที่อ่อนแอและการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ทั้งนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของกลุ่มแบงก์เริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และสามารถกลับมาเติบโตสูงกว่าการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในปี 2567 นำโดย รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (จากธุรกิจบัตรเครดิต และบริการประกันผ่านธนาคาร และบริการกองทุนรวม) การเพิ่มขึ้นของกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์[2] และกำไรจากเงินลงทุนซึ่งได้รับอานิสงส์จากสภาวะตลาด
- สถานการณ์หนี้เสียยังสูง แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่ธนาคารสามารถดูแลจัดการได้ แม้เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (สัดส่วน NPLs หรือ NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2567 จะปรับตัวขึ้นมาที่ 3.04% (จาก 2.96% ณ สิ้นปี 2566) แต่สัดส่วน NPLs ก็ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 จากจุดสูงสุดของปีที่ทำไว้ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งสะท้อนว่า ธนาคารต่างๆ ยังมีการจัดการกับปัญหาคุณภาพสินเชื่อในเชิงรุกทั้งดูแลจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิตของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ การตัดหนี้สูญ-ตัดขายหนี้เสีย รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมาที่มีผลทำให้ลูกหนี้บางส่วนมีการปรับชั้นจาก NPLs ขึ้นมาเป็นสินเชื่อ Stage 2[3]
- ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ทยอยลดลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ช่วยหนุนผลการดำเนินงานให้ประคองตัวผ่านปี 2567 โดยแม้ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ เฉลี่ยต่อไตรมาสของธนาคารส่วนใหญ่ในปี 2567 จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อไตรมาสในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติก่อนโควิด แต่ Credit Cost ก็ทยอยปรับลดลงมาจากจุดสูงสุดของปี 2567 แล้ว เกือบ 20 basis points (bps.) มาอยู่ที่ 1.51% ในไตรมาส 4/2567
โจทย์ที่ต้องเตรียมรับมือ 5 เรื่องของธุรกิจแบงก์ในปี 2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความเปราะบางของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงเป็นหนึ่งในโจทย์ท้าทายความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้คาดว่า ภาพในอีกด้านหนึ่งจะเห็นธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับการดูแลจัดการประสิทธิภาพด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย ควบคู่ไปกับการเตรียมปรับตัวรับมาตรการที่ทางการอาจทยอยประกาศออกมาเพิ่มเติม เช่น แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ ตลอดจนเตรียมวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่ โดยเฉพาะ Virtual Bank ในช่วงหลังจากนี้
- รายได้จากธุรกิจหลักอาจมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด โดยในส่วนของผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ (Yield on Loans) ปี 2568 อาจประคองตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่า 5.30% ในปี 2567 ตามภาพการเติบโตในกรอบจำกัดของสินเชื่อโดยเฉพาะพอร์ตสินเชื่อ High Yields รวมถึงความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจปรับตัวลดลง นอกจากนี้ แรงหนุนต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในปี 2568 โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมฯ กำไรจาก FVTPL และเงินลงทุน อาจมีความท้าทายกว่าปี 2567 เพราะจะขึ้นอยู่กับสภาวะความผันผวนของตลาดการเงินภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์
- ธนาคารส่วนใหญ่จะใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการดูแลบริหารจัดการประสิทธิภาพของค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ ซึ่งทำให้คาดว่าสัดส่วนต้นทุนต่อค่าใช้จ่าย (Cost to Income Ratio) ในปี 2568 จะลดลงต่ำกว่าระดับ 45% ในปี 2567 อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศน่าจะยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่นๆ
- ระดับค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ปี 2568 มีแนวโน้มชะลอลง (หลังจากที่กันสำรองฯ ในระดับสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา) แต่คาดว่า สัดส่วนสำรองฯ ต่อ NPLs (Coverage ratio) ในปี 2568 จะลดลงจาก 182% ณ สิ้นปี 2567 ไม่มาก เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ยังน่าจะมีแนวทางการกันสำรองฯ แบบระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยและผลจากนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะมีผลทั้งในเชิงบวกและลบกับภาคธุรกิจซึ่งทำให้ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยอาจมีการปรับแนวทางการกันสำรองฯ ให้สมดุลกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและปัญหาคุณภาพหนี้ที่ยังเป็นโจทย์ต่อเนื่องระหว่างปี
- ปัญหาคุณภาพสินเชื่อยังต้องดูแลต่อเนื่องในปี 2568 เพื่อรักษาระดับ NPLs ให้ใกล้เคียงหรือขยับขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับ 3.04% ณ สิ้นปี 2567 โดยในปี 2568 ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีภารกิจต่อเนื่องในการให้ความช่วยเหลือและปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ตามกรอบ Responsible Lending ซึ่งจะต้องดำเนินการไปพร้อมกับการเร่งบริหารจัดการคุณภาพหนี้ในเชิงรุก และการประเมินและทบทวนความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้โดยคำนึงถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอย่างระมัดระวัง
- ประเด็นติดตามเพิ่มเติมจะอยู่ที่เกณฑ์ของทางการและสภาพการแข่งขัน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ การดูแลความปลอดภัยทางด้านการเงิน และการวางกลยุทธ์เตรียมรับมือกับการแข่งขันจากคู่แข่งที่จะเข้มข้นขึ้น โดยคงจะเห็นแผนและรูปแบบการทำธุรกิจของผู้สมัคร Virtual Bank ที่ชัดเจนขึ้น หลังการประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในช่วงกลางปี 2568
[1] ข้อมูลของกลุ่มแบงก์ใน Current Issue ฉบับนี้ รวบรวมข้อมูลจากงบการเงินของธนาคารพาณิชย์และบริษัทย่อย 9 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
[2] โดยเฉพาะกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (Fair Value Through Profit or Loss)
[3] สินเชื่อ Stage 2 คือ สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต