news-details
Business

การท่าเรือฯ โชว์ความคืบหน้า “แหลมฉบัง เฟส 3” พร้อมจี้เอกชนถมทะเลให้แล้วเสร็จ มิ.ย. นี้

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นำโดยนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) หัวหน้าคณะทำงานติดตามความคืบหน้การก้อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยมี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. พร้อมด้วยว่าที่ร้อยตรี รัฐกร เขียวไพศาล นักบริหาร 16 ประจำผู้อำนวยการการท่าเรือ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง คณะผู้บริหาร กทท. และตัวแทนผู้ควบคุมงาน เข้าร่วมรับฟังและแถลงความคืบหน้าติดตามการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักธุรกิจ

ผู้อำนวยการ กทท. เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ในส่วนของงานก่อสร้างทางทะเลเมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน – ธันวาคม 2566) มีความรวดเร็วมากขึ้น โดยเดือนพฤศจิกายน 2566 ตามแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.90% ต่อเดือน ทำได้ 2.08% ต่อเดือน

ส่วนเดือนธันวาคม 2566 ตามแผนการปฏิบัติงานปัจจุบัน 1.99% ต่อเดือน ทำได้ 2.00%  ต่อเดือน นับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น เพราะการก่อสร้างมีความคืบหน้ามากกว่าแผนงานประจำเดือน

โดนสรุปความคืบหน้าของโครงการฯ ณ เดือนธันวาคม 2566 กิจการร่วมค้าฯ สามารถดำเนินงานได้แล้วที่ 17.34% ซึ่งล่าช้ากว่าแผนในภาพรวมโครงการอยู่ 1.67%

อย่างไรก็ตามทางกิจการร่วมค้า CNNC ได้ติดตามเร่งรัดดำเนินงานให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถส่งมอบงานพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2567 ตามที่กำหนด โดยกิจการร่วมค้าฯ ได้นำเครื่องจักรทางน้ำเข้ามาปฏิบัตงานเพิ่มเติมอีกจำนวน 30 ลำ จากเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวน 37 ลำ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 67 ลำในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมารวมถึงกิจการร่วมค้าฯ ได้นำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติงานเพิ่มเติมอีก จำนวน 120 คน จากเดิมมีบุคลากรจำนวน 400 คน รวมมีบุคลากรปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 520 คน

อีกทั้ง กระทรวงคมนาคม โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยมีนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นางมนพร เจริญศรี) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งมีการเร่งรัดติดตามการทำงานเป็นรายวัน และรายสัปดาห์ ทำให้การก่อสร้างมีความคืบหน้าเร็วขึ้นเพราะเป็นการเชื่อมโยงการกำกับดูแลในทุกภาคส่วน

นอกจากการเร่งรัดการเพิ่มจำนวนเครื่องจักรทางน้ำและบุคลากรแล้ว กทท. ยังได้มีการเร่งรัดให้ผู้รับจ้างนำเรือขุดลอกลำที่เป็นเจ้าของ (Owner) เข้ามาปฏิบัติงานทันที อีกทั้งยังให้ทำการสรุปข้อมูลความคืบหน้ารายวัน รายสัปดาห์ และวางแผนปฏิบัติงานรายวัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน EHIA โดยให้รายงานต่อผู้ควบคุมงานและคณะทำงานติดตามการก่อสร้างของโครงการฯ ซึ่งหากมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนในแต่ละวันทางผู้รับจ้างมีหน้าที่เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา และแจ้งให้ผู้ควบคุมงานและ กกท. ทราบว่าจะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


รวมถึง กทท. ยังคงเน้นย้ำกำชับติดตามให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ และผู้ควบคุมงานให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความสอดคล้องต่อเนื่องเพื่อให้สามารถส่งมอบงานตามแผนที่กำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่อไป
 
อย่างไรก็ดี โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. 47% และเอกชน 53% โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี เมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี เพิ่มสัดส่วนสินค้าผ่านท่าทางรถไฟของ ทลฉ. จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ช่วยสนับสนุนการลดต้นทุน การขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดค่าขนส่งประมาณ250,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อมุ่งผลักดันท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่การค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ

You can share this post!