ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ประกาศความร่วมมือกับ เบริล 8 พลัส Tech company ครบวงจร เปิดตัว บริษัท ฮอไรซอน ที 8 จำกัด “HoriXonT8” หรือ “T8” ยกระดับ Insurance Ecosystem ให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย ด้วย AI-Powered Digital Transformation เสริมศักยภาพพันธมิตรด้านนวัตกรรมประกันภัยทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ด้วยบริการที่ตอบสนองความต้องการแบบ MORE + Better + Faster ของ HoriXon T8 ตั้งเป้าเบี้ยประกันรับรวมปีนี้โต 3 เท่าของอุตสาหกรรมประกันภัยที่คาดว่าจะโตเฉลี่ย 0.5-2.5% ขณะที่เบี้ยประกันภัยรถยนต์ปีนี้จะเติบโตประมาณ 5%
ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH เปิดเผยว่า โลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในหลายมิติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ด้านสภาพแวดล้อม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ที่เข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประกันภัยก็ต้องเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ โดย Insurance Ecosystem ถือเป็นระบบนิเวศสำคัญ ทั้งในมิติของบริษัทประกันภัย, ตัวแทน/นายหน้า และคู่ค้า ตลอดจนผู้ให้บริการนอกอุตสาหกรรม เช่น สถาบันการเงิน, สถานพยาบาล, E-commerce และ Market Place ต่าง ๆ จึงเล็งเห็นโอกาสเพื่อปลดล็อคข้อจำกัดเดิม ๆ เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านประกันภัยในรูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย รวดเร็ว และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้นแบบไร้รอยต่อ ช่วยให้เราสามารถขยายฐานลูกค้าและเปิดตลาดใหม่ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
ด้วยประสบการณ์กว่า 72 ปีของทิพยประกันภัย ที่มีความเข้าใจในระบบประกันภัยและความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8 Tech company ครบวงจร ในการเปิดตัว บริษัท ฮอไรซอน ที 8 จำกัด “HoriXonT8” หรือ “T8” เพื่อยกระดับ Insurance Ecosystem ให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย ด้วย AI-Powered Digital Transformation เสริมศักยภาพพันธมิตรด้านนวัตกรรมประกันภัยทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไม่ใช่บริษัทประกันภัย แต่จะเป็นบริษัทที่ผลิตแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ หรือ Ecosystem ให้ระบบประกันภัย ด้วยบริการที่ตอบสนองความต้องการแบบ MORE + Better + Faster ของ HoriXon T8 โดยใช้งบลงทุนประมาณ 50-60 ล้านบาท
การร่วมมือกับ BE8 ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการผสานความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญของทั้งสองบริษัท โดยนำเอา Artificial Intelligence (AI) มาพัฒนาโซลูชันเพื่อสร้าง The Future of Insurance ให้ออกแบบประกันได้ตามความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายตามสไตล์ของแต่ละคน ซึ่งเชื่อว่าจะตอบโจทย์กับทุกความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ระบบประกันภัยในอนาคตจะถูกผูกติดไว้กับบริการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง เมื่อนำ AI เข้ามาช่วย เพราะระบบดังกล่าวนอกจากจะสร้าง Ecosystem แล้ว เป้าหมายหลักคือทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย รวดเร็ว และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น อีกทั้งระบบดังกล่าวจะช่วยให้ทุกกระบวนการทำงานสามารถประหยัดต้นทุนได้ ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลาในการทำงานได้ ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้จะเริ่มเห็นตัวเลขการเปลี่ยนแปลงได้ในปี 2568 นี้อย่างแน่นอน
“เราเปรียบเสมือนไล่ล่าขอบฟ้าใหม่ และอยากจะให้หน่วยงาน-ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยได้รับทราบว่า บริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะสร้าง Ecosystem ใหม่ของประเทศไทย ให้กับระบบและอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทย และยังมองไปถึงระบบอุตสาหกรรมประกันภัยในภูมิภาคอาเซียนด้วย หากเป็นไปได้ก็อยากเป็นเบอร์ 1 Ecosystem ด้านประกันภัยที่สามารถฮุบตลาดในระดับ Global หรือระดับโลกได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่บริษัทฯอยากดำเนินการ”ดร.สมพร กล่าว
นอกจากนี้บริษัทฯยังอยู่ระหว่างการเจรจาดีลบริษัทเทคโนโลนีต่างประเทศรายใหญ่ เพื่อลงทุน Infrastructure ด้านเทคโนโลยี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในครึ่งปีแรก 2568 นี้
ดร.สมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความคืบหน้าในเรื่องรูปแบบของการประกันสุขภาพที่ผู้ถือกรมธรรม์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบางส่วนของค่ารักษาพยาบาลเมื่อเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่กำหนด โดยที่บริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ หรือ "โคเพย์" (Co-pay หรือ Co-payment) นั้น จะเป็นเรื่องของการที่อุตสาหกรรมประกันทั้งประกันชีวิต และวินาศภัย ล้วนแต่เผชิญสถานการณ์เดียวกัน เพราะกรมธรรม์ประกันภัยในปัจจุบันเป็นกรมธรรม์ที่ทำให้ผู้เอาประกันสามารถที่สามารถรักษาตัวที่สถานพยาบาลไหนก็ได้ และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยประสบกับภาวะมีต้นทุนในการดำเนินการที่สูงมาก และเมื่อมีการจ่ายสินไหมแบบเดิม ผู้บริโภคไม่ทราบต้นทุนก็อาจจะเผลอไปใช้บริการทางการแพทย์อย่างไม่ระมัดระวัง ดังนั้นรูปแบบ "โคเพย์" ที่จะนำมาใช้นั้นก็จะทำให้ใครก็ตามแต่ที่จะมีการใช้สิทธิในเรื่องของการรักษาพยาบาลอย่างมาก และหากมีการรักษาพยาบาลในครั้งต่อไปก็จะต้องมีการร่วมจ่ายตามสัดส่วนที่มีการกำหนดไว้ในกรมธรรม์ ก็จะทำให้ผู้เอากรมธรรม์มีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิต และอุตสาหกรรมวินาศภัย ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป
“และเมื่อไปดูในสัญญาประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการประกันสุขภาพนั้น ในฝั่งของประกันวินาศภัยนั้นมีเงื่อนไข Co-payment อยู่แล้วตั้งแต่แรก เพียงแต่ในสัญญาประกันชีวิตนั้นยังไม่มี และที่ต่างกันคือ สัญญาประกันวินาศภัยที่เป็นสุขภาพนั้นส่วนใหญ่จะเป็นปีต่อปี ส่วนสัญญาเรื่องประกันสุขภาพของประกันชีวิต ส่วนใหญ่จะไปคู่กับสัญญาประกันชีวิต ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาว เขาจึงไม่มีกฎ แต่ขณะนี้ทั้ง 2 ฝั่งจะเริ่มมีการบังคับใช้เรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับผู้ที่เป็นโรคร้ายแรง จึงไม่ต้องมีความกังวล โดยสิ่งที่นำมาคำนวณเป็น Co-payment คือผู้ที่ชอบใช้สิทธิแบบไม่ระมัดระวัง คือเข้ารักษาตัวบ่อยมาก และมีค่ารักษาพยาบาลสูงเป็น 200% หรือตามที่สัญญากำหนดเอาไว้ ดังนั้นในสัญญาครั้งต่อไปก็จะเข้ากับเงื่อนไข Co-payment แต่ถ้าหากลูกค้ามีความระมัดระวังในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลดีขึ้น ในปีต่อไปซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัทประกันภัย ซึ่งในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยก็ได้มีการคุยกันว่า ก็ควรที่จะคืนสิทธิ์ให้กับลูกค้า ทั้งนี้แล้วแต่กรณี” ดร.สมพร กล่าว
สำหรับในปี 2568 บริษัทฯนี้ตั้งเป้าเบี้ยประกันรับรวมโต 3 เท่าของอุตสาหกรรมประกันภัยที่คาดว่าจะโตเฉลี่ย 0.5-2.5% เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มที่ดีจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทำให้การบริโภคดีขึ้น ขณะเดียวกันแรงขับเคลื่อนหลักของธุรกิจประกันภัยปีนี้จะเติบโตจากประกันภัย Non-Motor เป็นหลัก
ขณะที่ในปี 2567 ผ่านมาเบี้ยประกันของทิพยประกันภัยย่อตัวลงประมาณ 4-6% เนื่องจากการระมัดระวังประกันภัยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) และประกันภัยรถซ่อมห้างสรรพสินค้า ซึ่งจากสถิติติย้อนหลัง พบว่าผลประกอบการของประกันภัยที่ซ่อมห้างสรรพสินค้า ประสบปัญหาการขาดทุนและมี Loss Ratio 110-115% โดยบริษัทมองว่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ยังมีโอกาสในการขยายตัวได้และคาดการณ์ว่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ปีนี้จะเติบโตประมาณ 5% จากปี 2567 ที่ลดลงไปประมาณ 6%
นายอภิเษก เทวินทรภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8 กล่าวว่า ได้เล็งเห็นศักยภาพของการนำ AI และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมวงการประกันภัยไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ตอบสนองกับ Global Trends ต่างๆ เช่น Embedded Insurance หรือประกันภัยที่ฝังตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์และบริการ ที่เกี่ยวข้องกับ ไลฟ์สไตล์ตั้งแต่เรื่องการเดินทาง การดูแลสุขภาพ และการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง E-Commerce และการพัฒนา Digital Platforms ให้ทุกส่วนของ Insurance Ecosystem ได้เข้าถึงเทคโนโลยีและสามารถทำงานด้วยกับแบบไร้รอยต่อยิ่งขึ้น ซึ่งการร่วมมือกันระหว่าง TIPH และ BE8 ในครั้งนี้เป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านประกันภัยที่แข็งแกร่งของ TIPH กับความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีของ BE8 จึงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อน Insurance Ecosystem ให้เข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี (Tech-Driven Industry) ด้วยโซลูชันและบริการใหม่ ๆ สร้างศักยภาพใหม่ให้ทั้ง Insurance Ecosystem แบบองค์รวมเพื่อให้ประกันภัยเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัล
HoriXon T8 เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมประกันภัยและพันธมิตรทางธุรกิจใน Insurance Ecosystem โดยไม่ได้จำกัดเพียงการพัฒนา Insurtech ระหว่างบริษัทประกันกับผู้ซื้อประกันเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ด้วยการใช้ Modernized Application, Cloud Platforms, Open API Architecture และ AI การสร้างโซลูชันใหม่ที่ทันสมัย เพื่อให้พันธมิตรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่การก้าวข้าม Digital Disruption สร้างขีดความสามารถใหม่ ๆ สร้าง New S-Curve ให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย
ด้วยการนำนวัตกรรม AI และเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในทุกมิติ ผสานกับแนวคิดแบบ Disruptive Mindset ที่พร้อมจะก้าวออกจากข้อจำกัดและกรอบการทำงานแบบเดิม HoriXon T8 ตั้งเป้าหมายที่จะปฏิวัติ Insurance Ecosystem เสริมศักยภาพให้กับพันธมิตรในทุกมิติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อสร้างประกันภัยแห่งอนาคต เป็นศูนย์กลางการสร้างนวัตกรรมและ Tech Solutions ที่ครบวงจร พร้อมขับเคลื่อนตลาดประกันภัยด้วยพลังของ AI และเทคโนโลยี แบบไม่มีขีดจำกัด ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านประกันภัยในระดับภูมิภาค
“เบื้องต้นในปี 2568 นี้คงโฟกัสที่ TIPH และในอนาคตยังมีแผนที่จะขยายฐานไปยังภูมิภาคอาเซียนด้วย ซึ่งอาจจะเป็นที่สปป.ลาว เพราะTIPH มีสาขาที่นั่น โดยหากเร็วสุดก็จะเป็นในปลายปี 2568 นี้ หรืออย่างช้าก็เป็นต้นปี 2569” นายอภิเษก กล่าวในที่สุด