กรุงไทยอัพเดท ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ที่ 33.82 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้น" มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดจะอยู่ที่ 33.55-33.95 บาท/ดอลลาร์ แนะระวังความผันผวนช่วงรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด และช่วง Press Conference ของประธานเฟด
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.88 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้างในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.81-33.95 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวลดลงบ้าง โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ก็ถูกกดดันบ้าง จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) เดือนธันวาคม หดตัว -2.2% จากเดือนก่อนหน้า อีกทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ในเดือนมกราคม ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104.1 จุด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสฯ นี้
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุม FOMC ของเฟด ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 2.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย โดยเรามองว่า ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25%-4.50% เพื่อรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ รวมถึงรอความชัดเจนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เฟดมีโอกาสที่จะกลับมาลดดอกเบี้ยต่อในการประชุม FOMC เดือนมีนาคม หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องชัดเจน ส่วนนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็อาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่ตลาดกังวล
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Apple ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อนได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุม FOMC ของเฟด ที่จะรับรู้ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้ อีกทั้ง วันนี้ยังเป็นวันหยุดเทศกาลตรุษจีนของหลายตลาดในฝั่งเอเชีย ทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมในตลาดการเงินอาจเบาบางลงได้บ้าง ทั้งนี้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.20 บาทต่อดอลลาร์
อนึ่งในช่วงระหว่างวันนี้ เรามองว่า บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินก็อาจพอช่วยหนุนเงินบาทได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม เหมือนในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจได้รับอานิสงส์เพิ่มเติม หากราคาทองคำยังสามารถทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านก่อนหน้าได้บ้าง ทว่าต้องระวังความผันผวนของราคาทองคำ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้พอสมควร โดยเฉพาะในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด อนึ่ง เรามองว่า เงินบาทอาจยังไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องชัดเจน เนื่องจากในช่วงนี้ เรายังคงเห็นแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าอยู่ รวมถึงอาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบจากผู้เล่นในตลาดอยู่บ้าง หลังราคาน้ำมันดิบได้ทยอยปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เงินบาทอาจพอมีแนวรับแถวโซน 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้
ทั้งนี้ เราขอย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟด เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัวกว่า +/-0.30% โดยเฉลี่ย ภายในช่วง 30 นาที หลังทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดได้ นอกจากนี้ ในช่วง 2.30 น. ซึ่งจะเป็นช่วง Press Conference ของประธานเฟด Jerome Powell ก็จะเป็นอีกช่วงหนึ่งที่ตลาดการเงินมักจะผันผวนไปตามถ้อยแถลงของประธานเฟด
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.95 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC ของเฟดและช่วง Press Conference ของประธานเฟด)