กรุงไทย อัพเดทค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ 33.74 บาท/ดอลลาร์ "ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง" คาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ 33.55-33.85 บาท/ดอลลาร์ จับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.74 บาทต่อดอลลาร์ "ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง" จากระดับปิดวันที่ผ่านมา
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.71-33.87 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.80-33.90 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ (XAUUSD) ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ทั้งนี้ เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ส่วนเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ทยอยปรับตัวลดลงบ้าง แม้ว่า เฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25%-4.50% ตามคาด อีกทั้งประธานเฟด Jerome Powell ยังย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยก็ตาม ส่วนผู้เล่นในตลาดยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ และอีกราว 1 ครั้ง ในปี 2026 อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่รีบร้อนปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ เพื่อรอติดตามผลการประชุม ECB ในช่วงค่ำของวันพฤหัสฯ นี้เช่นกัน
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.15 น. ตามเวลาประเทศไทย (Press Conference โดยประธาน ECB ในช่วง 20.45 น.) โดยเรามองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยูโรโซนและทิศทางของอัตราเงินเฟ้อที่จะทยอยกลับสู่เป้าหมาย 2% ของ ECB จะทำให้ ECB มีตัดสินใจ “ลดดอกเบี้ยนโยบาย” (Deposit Facility Rate) 25bps สู่ระดับ 2.75% และมีโอกาสที่ ECB จะส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องได้ ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป โดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญแรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2025 ที่ผ่านมา
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2025 ด้วยเช่นกัน พร้อมรอติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
และในฝั่งญี่ปุ่น ช่วงราว 6.30 น. - 6.50 น. ของเช้าวันศุกร์นี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รวมถึง รายงานยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ผลการประชุม FOMC ของเฟดในช่วงคืนที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่า เป็น “Non-Event” ที่แทบไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.20 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุม ECB เรามองว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาท ก็อาจขึ้นกับแนวโน้มราคาทองคำด้วยเช่นกัน โดยหากราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ก็จะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ทว่า เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจถูกจำกัดโดยแรงซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้า ทำให้เงินบาทก็อาจยังติดอยู่แถวโซนแนวรับ 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อนได้ อย่างไรก็ดี ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายหุ้นไทยได้บ้างในช่วงนี้
ทั้งนี้ เราแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า ECB จะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ พร้อมส่งสัญญาณชัดเจน เดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยผู้เล่นในตลาดมองว่า ECB มีโอกาสราว 59% ที่จะลดดอกเบี้ยได้รวม 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้ ทำให้ หากผลการประชุม ECB ไม่ได้สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาด เช่น ECB ลดดอกเบี้ยตามคาด แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ก็อาจทำให้ เงินยูโร (EUR) กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways ต่อ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.85 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB และช่วง Press Conference ของประธาน ECB)