ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ สกพอ. สนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และเสริมสถานะให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับนักลงทุนต่างชาติ พร้อมช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ ผ่านเครือข่ายธนาคารยูโอบี ที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน
นายริชาร์ด มาโลนี่ย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี จำกัด(มหาชน) หรือ OUBT เปิดเผยว่า ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และเสริมสถานะให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับนักลงทุนต่างชาติ พร้อมช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ ผ่านเครือข่ายธนาคารยูโอบี ที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ ธนาคารยูโอบี และ สกพอ. จะนำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่มีมาร่วมนำเสนอโซลูชันทางการเงินและบริการให้คำปรึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการลงทุนให้ราบรื่นยิ่งขึ้น ยกระดับความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ และส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักตามกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย อันได้แก่ ยานยนต์ยุคใหม่ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียวและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยการร่วมมือในครั้งนี้ธนาคารยูโอบี หวังที่จะต่อยอดใน 3 เรื่อง หลัก ACE Factor คือ
1.Access to Critical Market info สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ
2.Connecting in the Right Ecosystem สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้ Ecosystem ที่แข็งแกร่ง
3.Expansion Confidently in to EEC Thailand สนับสนุนให้นักธุรกิจขยายตัวสู่ประเทศไทย ผ่าน EEC ได้อย่างมั่นใจและผ่านบริการทางการเงิน
“การร่วมมือระหว่างธนาคารยูโอบี และ สกพอ. แสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการมีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเราจะให้การสนับสนุนแบบครบวงจรแก่นักลงทุนทั้งในประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางชั้นนำด้านนวัตกรรมและการพัฒนาในภูมิภาคนี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของ สกพอ.” นายริชาร์ด กล่าว
นายริชาร์ด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะครอบคลุมโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการร่วมกัน อาทิ แคมเปญส่งเสริมการลงทุน การจัดโรดโชว์สำหรับนักลงทุน และการสนับสนุนผ่านหน่วยงานที่ปรึกษาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIA) ของธนาคาร ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2563 หน่วยงาน FDIA ของยูโอบีได้สนับสนุนให้บริษัทกว่า 450 แห่งขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศไทย โดยคาดว่าสร้างมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศกว่า 45,000 ล้านบาท และสร้างโอกาสการจ้างงานให้กับคนไทยมากกว่า 31,000 ตำแหน่ง
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า การร่วมมือกับธนาคารยูโอบี สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางเศรษฐกิจของไทย การดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธนาคารยูโอบีในประเทศไทย และเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับนักลงทุนที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมความสามารถของ สกพอ. ในการเสนอโซลูชันทางการเงินแบบครบวงจร ไม่เพียงแต่สำหรับโครงการในประเทศเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับฐานลูกค้าที่หลากหลายและขยายตัวเพิ่มขึ้นของธนาคารยูโอบี โดยทั้งสององค์กรมุ่งมั่นดึงดูดการลงทุนมูลค่าสูงที่ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างโอกาสให้กับชุมชนในประเทศไทย
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก และนโยบายที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างปัจจัยบวกให้ประเทศไทย โดยนักลงทุนจะได้รับบริการธนาคารที่ราบรื่นไร้รอยต่อ คำแนะนำด้านการลงทุนที่ครอบคลุมทุกมิติ และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ เป็นต้น
นายจุฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสสกพอ.พยายามที่จะหากลุ่มธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเรื่องการแพทย์ชั้นสูง ที่การรักษาในอนาคตอาจจะไม่ต้องรับประทานยา แต่รักษาด้วยเซลล์ ซึ่งโดยรวมแล้วในปี 2568 จะมีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และดาต้า เซ็นเตอร์ เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
“จะมีดีมานด์ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเยอะมาก โดยเฉพาะจากประเทศจีน และถ้าหากภายใน 1-2 ปีนี้ ไม่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนมาได้ ก็คงจะอีกยาวเลย เพราะแต่ละประเทศในอาเซียนจะมีความแตกต่างด้านการลงทุนที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะมีการลงทุนด้านดิจิทัล และ ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นจำนวนมาก แต่โดยภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมหลักที่ สกพอ.ให้ความสำคัญคือ 1.ด้านการแพทย์ และสุขภาพ โดยการลงทุนเรื่องดังกล่าวจะมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ กลุ่มผู้ผลิตสินค้า และ กลุ่มภาคบริการ โดยประเทศไทยพยายามที่จะดึงภาคบริการเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งเป็นในเชิง Global ทั้งเชิงป้องกันและรักษา2.อุตสาหกรรมดิจิทัล ในหลายๆด้าน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และ3.สิ่งแวดล้อม”นายจุฬา กล่าวในที่สุด