news-details
Business

บาท"แข็งค่าขึ้น"เปิดเช้านี้ 33.86 บาท/ดอลลาร์ จับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ค่าเงินบาท เปิดเช้านี้ที่ 33.86 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้น" มองกรอบในช่วง 24 ชั่วโมง คาดจะอยู่ที่ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์ เตือนระวังความผันผวนช่วงรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.86 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้น" จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.04 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.81-34.05 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังการเจรจารระหว่างผู้นำของสหรัฐฯ กับเม็กซิโกและแคนาดา เป็นไปอย่างราบรื่นส่งผลให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาออกไปอีก 30 วัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ยังได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) รีบาวด์สูงขึ้นเหนือโซน 2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาด

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน (Factory Orders) และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ในเดือนธันวาคม พร้อมกับรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ในช่วงเช้าของวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ ราว 6.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) ในเดือนธันวาคม เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (รอจับตาว่า ทางการสหรัฐฯ จะมีการเจรจากับทางการจีน จนอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท การทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจนทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ทำให้หากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following เงินบาทก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแนวโน้มเป็นการอ่อนค่าลง และเงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ดี เงินบาทเสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ขึ้นกับความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 โดยหากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรป หรือประเทศอื่นๆ (อาจจะเพื่อเป็นการเจรจาต่อรอง ให้สหรัฐฯ บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการแบบที่ทำกับเม็กซิโกและแคนาดา) ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เสี่ยงอ่อนค่าลงหนัก ได้ หนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงทะลุโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง

ทว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มเจรจากับทางการจีน จนนำไปสู่การชะลอเก็บภาษีนำเข้าที่ได้ประกาศไปล่าสุด ก็อาจหนุนให้ เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินเอเชียได้ไม่ยาก แต่เรามองว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวอาจไม่ง่ายนัก และสิ่งที่ต้องระวังคือ แนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจเดินหน้าทยอยขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีน ทว่าสิ่งที่อาจพอเป็นไปได้ คือ การปรับมาตรการเก็บภาษีนำเข้า โดยอาจยกเว้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Smartphone เนื่องจากการประกาศมาตรการภาษีล่าสุดจะกระทบต่อบริษัทสหรัฐฯ อย่าง Apple ได้พอสมควร

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้พอสมควร รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่อาจยังมีความผันผวนอยู่ในช่วงนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

อนึ่ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) และยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงผันผวนโดยเฉลี่ย +/-0.20% ภายในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ)

You can share this post!