หลังจากที่กลุ่มบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ TICON โดยถือ 735 ล้านหุ้น คิดเป็น 40.07%,บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA และบริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท ของกลุ่ม “โสภณพนิช”ชนะการประมูลคว้าที่ดินแปลงใหญ่ 4,300 ไร่ บริเวณถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 32.5 อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ จากกรมบังคับคดี ด้วยมูลค่า 8,914.07 ล้านบาท เมื่อประมาณปี 2560 ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวทำเลดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ผังเมืองเขตสีม่วง ประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (อ.1, อ.2) สามารถก่อสร้างโรงงานได้ เดิมเป็นของบริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเตรียลพาร์ค จำกัด ในเครือบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ติดจำนองกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่กลายเป็นหนี้เสียถูกธนาคารกรุงไทยฟ้อง และกรมบังคับคดีขายทอดตลาดในที่สุด
ล่าสุดการร่วมทุนของ 3 ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมของไทย ภายใต้บริษัทร่วมทุนคือ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด บริษัทภายใต้การร่วมทุนของ 3 ผู้นำด้าน ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน), บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท เปิดตัว “อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” (ARAYA THE EASTERN GATEWAY) มูลค่าการลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท ที่นับเป็น “The First Industrial Tech Ecosystem in Thailand” หรือ ระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมครบวงจรรูปแบบใหม่บนพื้นที่กว่า 4,600 ไร่ ซึ่งประกอบไปด้วย แคมปัสด้านอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี พื้นที่โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรมอารยะ ตลอดจนโซนไลฟ์สไตล์และบริการต่างๆ ศูนย์กลางการให้บริการชุมชน และโครงการที่อยู่อาศัย บนทำเลกิโลเมตรที่ 32 บางนา-ตราด ครอบคลุมเชื่อมต่อไปสู่ทางพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (Motorway) ใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ พร้อมดึงดูดบริษัทชั้นนำจากหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทางเฟรเซอร์สฯและอีก 2 พันธมิตร คือ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท ได้เข้ามาร่วมบุกเบิกที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อปี 2560 โดยเฟรเซอร์สฯถือหุ้น 50% และ 2 พันธมิตรถือหุ้นรายละ 25% ซึ่งมีความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นที่จะรวมพื้นที่ดินที่มีคุณค่าและสามารถต่อยอดให้กับเศรษฐกิจของประเทศ โดยระยะเวลากว่า 7 ปี เป็นระยะเวลาที่สร้างให้เห็นถึงว่า ได้ใช้เวลาในการรวมผัง ศึกษาเพื่อการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ระบบนิเวศของนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต อีกทั้งยังเป็นความร่วมมือของประสบการณ์ที่ทางกลุ่มเฟรเซอร์สฯรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มที่มีประสบการณ์พัฒนาในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยแต่ละกลุ่มได้พัฒนามาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ส่วนเฟรเซอร์สฯเองก็ได้นำพาประสบการณ์และความสามารถที่ได้ลงทุนใน 20 กว่าประเทศ และพัฒนาในรูปแบบพื้นฐานในการร่วมมือกับผังเมืองระดับโลก ในการศึกษาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และคุณภาพชีวิตของคน และการพัฒนาต่อยอดของเมืองในอนาคต ถือว่าเป็นโอกาสที่ต้องการตอกย้ำให้ได้ทราบว่า เฟรเซอร์สฯยังเชื่อมั่นประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมาก และโอกาสการลงทุนของกลุ่มเฟรเซอร์สฯที่นำเอาแนวคิดที่มุ่งเน้นทางการพัฒนาเพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นของลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เช่น วัน แบงค็อก ที่ใช้ระยะเวลาในการพัฒนากว่า 14 ปี และมุ่งเน้นให้เห็นถึงการพัฒนาเมือง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเชื่อว่าระบบนิเวศของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในการพัฒนานิคมฯสมัยใหม่ จะเป็นเทคอินดัสตรี ที่จะสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจร ซึ่งจะนำพาความสำเร็จให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาคุณภาพโอกาสของคนทำงานและการพัฒนาที่อยู่ใกล้กับเขตพื้นที่เมือง เชื่อว่าจะเป็นการนำเอาศักยภาพ คุณภาพของนักศึกษาและแนวทางการพัฒนาคุณภาพของงาน ของอุตสาหกรรมคนสมัยใหม่ และยังดึงเอาหัวสมองที่โดดเด่นของโลกเข้ามาลงทุนร่วมกันกับประเทศไทยอีก ซึ่งจากนี้ไป “อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” (ARAYA THE EASTERN GATEWAY) ก็จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และต้อนรับความร่วมมือ รวมทั้งการสนับสนุนของภาครัฐที่จะนำเอาอุตสาหกรรมใหม่ๆและพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจของอาเซียนต่อไปด้วย
นางสาวกมลกาญจน์ คงคาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด กล่าวว่า “อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด ระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือ Industrial Tech Ecosystem โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบุกเบิกระบบนิเวศแห่งนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีขั้นสูง และโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย พร้อมสนับสนุนความสำเร็จทางธุรกิจของลูกค้า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของบุคลากรในโครงการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนที่น่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับจากบริษัทระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ
“โครงการตั้งอยู่บนประตูสู่ภาคตะวันออก ณ กิโลเมตรที่ 32 ของถนนบางนา-ตราด จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนับเป็นทำเลทองของอุตสาหกรรมไทยใกล้กรุงเทพฯ เชื่อมต่อจากถนนบางนา-ตราด สู่ทางพิเศษกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ (Motorway) นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญ และท่าเรือแหลมฉบังในเวลาเพียง 60 นาที เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ โลจิสติกส์ อุตสาหกรรม และการค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังรายล้อมด้วยศูนย์การผลิตสินค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจ E-Commerce รวมถึงธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ฯลฯ ซึ่งถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการเปิดรับลูกค้าจากบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งของโครงการมาร่วมสร้างมูลค่า พร้อมรองรับการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจในอนาคตอย่างเต็มศักยภาพ”นางสาวกมลกาญจน์ กล่าว
"อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์" ออกแบบระบบนิเวศภายในโครงการ ภายใต้ 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1.Industrial Tech Campus (แคมปัสด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี): พื้นที่ที่ถูกออกแบบให้เป็นแคมปัสของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
2.Logistics Park (พื้นที่โลจิสติกส์): พื้นที่สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า ด้วยทำเลที่ตั้งที่เชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งได้อย่างสะดวก จึงเหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการ ความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศ
3.ARAYA Industrial Estate (นิคมอุตสาหกรรมอารยะ): พื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และตั้งอยู่ในพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนต่างๆ ตามนโยบายของภาครัฐ
4.Lifestyle & Amenities (โซนไลฟ์สไตล์และบริการต่างๆ): พื้นที่รีเทล ไลฟ์สไตล์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโครงการที่มุ่งเน้นการส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน
5.Community Services Centre (ศูนย์กลางการให้บริการชุมชน): ศูนย์กลางในการให้บริการชุมชน และช่วยเหลือลูกค้าของโครงการ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สวนสาธารณะ ลู่วิ่ง และสนามฟุตซอล
6.Residential Project (โครงการที่อยู่อาศัย): เตรียมจัดสรรพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหาร ที่ทำงานในโครงการ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความจำเป็นในการเดินทาง สอดคล้องกับแนวคิด Work-Live-Play
“อารยะ” สื่อถึงอารยธรรม ความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบของโครงการที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม การเติบโตทางธุรกิจ ทั้งยังเป็นคำที่ออกเสียงได้ง่ายสำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่วน “ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” สื่อถึงทำเลของโครงการที่เชื่อมต่อสู่ภาคตะวันออก และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมหลักแห่งใหม่ของประเทศ”นางสาวกมลกาญจน์ กล่าว
นางสาวกมลกาญจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวจะแบ่งการพัฒนาออกเป็นหลายเฟส โดยเฟสแรก จะเป็นการนำที่ดินมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม,คอมมูนิตี้ เซอร์วิส เซ็นเตอร์ และโลจิสติกส์ พาร์ค ประมาณ 300-400 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันที่ดินในย่านสมุทรปราการ ราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 12-14 ล้านบาท/ไร่ และล่าสุดได้มีกลุ่มนักลงทุนชาวเยอรมนี ในธุรกิจSemiconductor ได้ซื้อที่ดินกว่า 100 ไร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักลงทุน ชาวจีน และประเทศแถบเอเชีย รวมไปถึงยุโรป ก็ให้ความสนใจลงทุนในโครงการดังกล่าวด้วยเช่นกัน
“อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” ไม่ใช่เพียงนิคมอุตสาหกรรม แต่เป็นอสังหาริมทรัพย์เชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ในรูปแบบของระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรม เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยข้อได้เปรียบทั้งด้านเงินลงทุนที่แข็งแกร่ง ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ตลอดจนเครือข่ายลูกค้าที่ได้มาจากการผสานความร่วมมือระหว่าง 3 บริษัท จะผลักดันให้โครงการประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ ปักหมุดหมายใหม่ในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เศรษฐกิจของประเทศ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันเราได้รับความสนใจและเริ่มมีการติดต่อพูดคุยกลุ่มลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม Semiconductor & Electronics, กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV), กลุ่มธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ (Pharmaceuticals), ธุรกิจการขนส่งและกระจายสินค้า (Logistics) และกลุ่มธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และยังคงเปิดรับลูกค้าในเซกเมนต์ใหม่ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง” นางสาวกมลกาญจน์ กล่าวในที่สุด
เกี่ยวกับ โครงการ อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ (ARAYA THE EASTERN GATEWAY)
โครงการ “อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” กำเนิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 บริษัทชั้นแนวหน้าในแวดวงอุตสาหกรรมของไทย ได้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน), บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด หรือเอเชีย อินดัสเตรียล เอสเตท โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างระบบนิเวศเมืองอุตสาหกรรมและนวัตกรรมครบวงจรรูปแบบใหม่ ผ่านการผสมผสานรูปแบบพื้นที่อุตสาหกรรมร่วมกับความเป็นเมือง เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และโครงสร้างพื้นฐานระดับเวิลด์คลาส เพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์การทำงานและการใช้ชีวิตได้อย่างไร้รอยต่อ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าไปสู่ความยั่งยืน และยังเป็นการร่วมผลักดันเศรษฐกิจเมืองไทยให้เจริญก้าวหน้าอีกด้วย