news-details
Business

คมนาคม เร่งขับเคลื่อนระบบรางไทย 'ไฮสปีดเทรน - ทางคู่" เล็งเปิดช่วงบันไดม้า – คลองขนานจิตร ภายในปี 67

สุรพงษ์ รมช.คมนาคม ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูงอยุธยา และรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ พร้อมเร่งเปิดใช้ทางคู่ ช่วงบันไดม้า – คลองขนานจิตร ภายในปี 67

เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกและประธานกรรมการรถไฟฯ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา –ชุมทางถนนจิระ ณ สถานีรถไฟมวกเหล็กใหม่ สูงเนิน และโคกกรวด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง และอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ และผู้บริหารการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และการติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง และอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ผู้โดยสารให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟทางสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง ให้เสร็จตามแผนที่กำหนด

สำหรับภาพรวมจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้เริ่มตรวจเยี่ยมตั้งแต่พื้นที่การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา โดยรูปแบบโครงสร้างอาคารได้ยึดการดำเนินการตามผลการศึกษา การออกแบบรายละเอียด และมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการสร้างทางรถไฟบนแนวเส้นทางเดิม ไม่ได้ทำการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน ตลอดจนโบราณสถานในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งรูปแบบการก่อสร้างได้ยึดหลักอารยสถาปัตย์ ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก และคำนึงถึงประโยชน์ในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างโครงการมีคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 31 ซึ่งการรถไฟฯ ได้เร่งรัดติดตามการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้

ต่อมา นายสุรพงษ์ ได้นำ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เดินทางติดตามความคืบหน้า พร้อมรับฟังบรรยายการดำเนินงาน โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กิโลเมตร จำนวน 20สถานี ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างที่สถานีมาบกะเบา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านพื้นที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และมาสิ้นสุดโครงการที่สถานีชุมทางถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา วงเงินลงทุนประมาณ 29,968 ล้านบาท โดยปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร ด้านงานโยธาคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 95.768 ช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ร้อยละ 4.232 เนื่องจากอยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่จากประชาชน

พร้อมกันนี้ยังได้ตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟมวกเหล็กใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารและส่วนประกอบเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งมอบหมายให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการในด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด

จากนั้น รมช.คมนาคม ได้รับฟังการบรรยายแนวทางการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ ช่วงบันไดม้าถึงคลองขนานจิตร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กิโลเมตร โดยปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการออกหนังสือรับรองการแล้วเสร็จของงาน จึงมอบหมายให้การรถไฟฯ เร่งดำเนินการให้สามารถเปิดให้บริการทางคู่ช่วงดังกล่าวได้ภายในปลายปี 2567 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ในโอกาสนี้ การรถไฟฯ ได้รายงานชี้แจงการออกแบบหลังคาคลุมชานชาลารถไฟทางคู่ที่มีลักษณะสั้น ซึ่งตามรูปแบบโครงสร้างสะพาน จำเป็นจะต้องมีความสูงและมีระยะห่างจากรางรถไฟเพียงพอ เพื่อที่จะให้พ้นจากเขตโครงสร้างซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินรถ อีกทั้ง หัวรถจักรที่ใช้งานเป็นระบบรถดีเซลไฟฟ้า มีการปล่อยควัน ดังนั้น การออกแบบหลังคาต้องคำนึงถึงเรื่องการระบายอากาศจากควันรถเป็นสำคัญเพราะหากหลังคาคลุมชานชาลารถไฟมีลักษณะยาว อาจเป็นอุปสรรคของการทำงานกรณีหากเกิดเหตุบริเวณสถานีได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ จึงมอบนโยบายให้การรถไฟฯ ดำเนินการติดตั้งแผงกันแดดและฝนเพิ่มเติมในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางต่าง ๆ ให้แก่ผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ผู้โดยสารยังสามารถรอขึ้นขบวนรถบริเวณชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร หรือภายในอาคารสถานี ซึ่งได้จัดที่นั่งไว้ให้บริการ และเมื่อขบวนรถใกล้ถึงสถานี ผู้โดยสารสามารถใช้ลิฟต์ หรือบันไดมายังชานชาลาเพื่อขึ้นขบวนรถได้อีกด้วย

นายสุรพงษ์ ยังมอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดแก้ไขปัญหาชุมชนโดยรอบทางรถไฟ ในพื้นที่สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 110 แปลง โดยให้ใช้วิธีเจรจาปรองดองเกี่ยวกับพื้นที่เพื่อใช้ก่อสร้าง และจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับผู้ถูกเวนคืนอย่างเหมาะสม เป็นธรรม ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะได้รับอนุมัติดำเนินการในเดือนมีนาคม 2567 และสามารถจ่ายเงินค่าเวนคืนได้ในเดือน พฤษภาคม – ตุลาคม 2567 ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร – ชุมทางถนนจิระ จะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนใหม่ ตามพระราชบัญญัติ 2562 โดยการรถไฟฯ ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548แล้ว โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปยังสถานีโคกกรวด เพื่อรับฟังแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่โดยรอบทางรถไฟ ซึ่งเป็นแนวเส้นทางก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3 - 5 งานโยธา สำหรับช่วงสถานีโคกกรวด - นครราชสีมา โดยได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ แก้ปัญหาการปรับแบบการก่อสร้างจากคันทางระดับดินเป็นทางรถไฟยกระดับ ช่วงสถานีโคกกรวด – ภูเขาลาด ระยะทางประมาณ 7.85 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวก และแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบแนวทางปรับรูปแบบก่อสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับ และปรับกรอบวงเงิน รวมถึงระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มอีก 36 เดือน จากคณะกรรมการรถไฟฯ พร้อมให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ กรณีรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงาน EIA ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน

นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟแยกสีมาธานี ซึ่งจะมีการก่อสร้างสะพานยกระดับที่กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจากการรถไฟฯ เรื่องข้อพิจารณาแนวทางเลือกแบบต่าง ๆ ซึ่งการรถไฟฯ ได้เสนอแนวทางให้สร้างสะพานรถไฟในเขตทางเดิมระดับพื้นดิน โดยไม่ทุบสะพานสีมาธานี เนื่องจากเป็นแนวทางที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะมีการพิจารณาเงื่อนไขในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ พร้อมกันนี้ ได้ให้การรถไฟฯ เร่งรัดการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า มีความมั่นใจว่าโครงการพัฒนารถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ จะมีความพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2568 ตามเป้าหมายที่วางไว้โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางรางอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเดินทางของพี่น้องประชาชนและการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงทุกภูมิภาคได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน รวมถึงภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ดีขึ้น ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

You can share this post!