วานนี้ (20 พฤศจิกายน 2567), สาธารณรัฐฟินแลนด์ - รองนายกฯ ประเสริฐ นำคณะผู้บริหารกระทรวงดีอี และ ดีป้า เยี่ยมชมมหกรรมระดับโลก Slush 2024: Metamorphosis – A Call for Radical Transformation พร้อมหารือผู้จัด หวังดึงจัดงานในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub)
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) พร้อมด้วย นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี และคณะผู้บริหารกระทรวง รวมถึง ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมคณะทำงาน เข้าเยี่ยมชม Slush 2024 มหกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและมีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งเป็นการรวมตัวกันของดิจิทัลสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนครั้งสำคัญ ซึ่งปีนี้มาพร้อมแนวคิด 'Metamorphosis – A Call for Radical Transformation' โดยมี Ms. Charlotte Alholm, Partnership Manager at Slush ให้การต้อนรับ
Slush 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤศจิกายน 2567 ณ Helsinki Expo and Convention Centre (Messukeskus) เมืองเฮลซิงกิ โดยภายในงานมีการเปิดพื้นที่ให้เกิดการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการสร้างและดำเนินธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ดิจิทัลสตาร์ทอัพ ผู้ให้บริการดิจิทัล นักลงทุน รวมไปถึงผู้ที่สนใจจากทั่วโลกผ่านเวทีเสวนาและกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมกันนี้ยังมีพาวิลเลียนจากนานาประเทศที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยมาจัดแสดง โดยผู้จัดคาดว่า Slush 2024 จะดึงดูดผู้ร่วมงานได้ถึง 13,000 คนจากกว่า 100 ประเทศ อีกทั้งประมาณการณ์ว่าจะมีสตาร์ทอัพเข้าร่วมงานราว 5,500 ราย และนักลงทุนราว 3,300 ราย ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ Slush จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกิดเหล่าผู้ก่อตั้งธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น
และเพื่อเป็นการขยายโอกาสและสร้างเครือข่ายให้กับสตาร์ทอัพในระดับสากล Slush จึงมีการขยายกิจกรรมไปยังภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงเอเชีย ซึ่งเคยมีการจัดงานที่ประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และล่าสุดที่ประเทศมาเลเซีย โดยได้รับความสนใจจากสตาร์ทอัพและนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ นายประเสริฐ จึงได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่จะให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของภูมิภาคเอเชียในการจัดงาน โดยเล็งเห็นว่า Slush จะช่วยตอกย้ำให้นานาชาติเห็นถึงศักยภาพของประเทศที่จะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เปิดมุมมองใหม่และเครือข่ายความร่วมมือให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุน ดิจิทัลสตาร์ทอัพ และประชาชนที่สนใจ ขณะเดียวกันยังเป็นการมอบประสบการณ์อันมีค่าให้กับนักศึกษาไทยในการมีส่วนร่วมกับงานระดับโลก และสุดท้ายคือช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
จากนั้น ผศ.ดร.ณัฐพล พร้อมคณะทำงาน ดีป้า ได้ร่วมหารือกับสถานทูตฟินแลนด์ และ VTT Technical Research Centre หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของฟินแลนด์ โดย ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เล่าถึงภารกิจและแผนการดำเนินงานสำคัญของสำนักงานฯ อาทิ การพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลศักยภาพสูงของประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถแก่ดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย และการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนสตาร์ทอัพและระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพ
ขณะที่ VTT Technical Research Centre เล่าถึงพันธกิจในการศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี ให้บริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยและนวัตกรรมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และยกตัวอย่างการใช้ฐานข้อมูลในหลายมิติมาพัฒนาอัลกอริทึมเพื่อช่วยตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และนโยบายของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ พร้อมทำนายทิศทางความเปลี่ยนแปลงของเมืองและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดย VTT Technical Research Centre เสนอให้เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างสองหน่วยงาน ซึ่งความร่วมมืออาจเป็นไปในลักษณะของการให้คำปรึกษา หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น ความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดสำหรับเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น